ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำดี ปภาโส
วัดถ้ำผาปู่
ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย
๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
“พระครูญาณทัสสี” หรือ “หลวงปู่คำดี ปภาโส” มีนามเดิมว่า คำดี นินเขียว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๕ ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล ณ บ้านหนองคู ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายพร และนางหมอก นินเขียว ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๖ คน เป็นชาย ๓ คน หญิง ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒
หลวงปู่คำดีเมื่อเป็นเด็กท่านไม่ได้เข้าโรงเรียน เพราะสมัยนั้นตามชนบทบ้านนอกไม่มีโรงเรียน ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยเข้าเรียนโรงเรียนผู้ใหญ่จบชั้นประถมปีที่ ๔ บริบูรณ์ ในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและมีจิตใจเลื่อมใสในทางพระพุทธศาสนาตลอดมา ท่านนึกอยากจะบวชมาตลอด เมื่ออายุพอบวชเป็นสามเณรได้ ท่านขออนุญาตโยมบิดา-โยมมารดาบวช แต่ไม่ได้รับอนุญาต กลับบอกว่า เอาไว้อายุครบบวชเป็นพระแล้วค่อยบวชทีเดียวเลย เพราะตอนนี้ทางบ้านกำลังต้องการให้อยู่ช่วยทำงานก่อน ท่านก็ได้ช่วยพ่อแม่ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรด้วยความอดทนมาตลอด
จนกระทั่งอายุครบ ๒๒ ปีบริบูรณ์ จึงได้ขออนุญาตโยมบิดา-โยมมารดาของท่านบวชอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จึงยินดีอนุญาตให้ท่านบวชได้ตามต้องการ ท่านดีใจมากเพราะสมใจที่คิดไว้ ท่านพูดว่าสมัยท่านเป็นเด็กมองเห็นภูเขาเขียวๆ ที่ใกล้บ้านท่าน เป็นสถานที่ที่เหมือนว่าเคยอาศัยอยู่มาแต่ก่อนแล้ว และคิดว่าบวชครั้งนี้แล้ว คงจะได้ไปอยู่อาศัยทำความเพียรแน่ เกิดความปuติ และเกิดความชื่นใจตลอดเวลา
๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
หลวงปู่คำดี ปภาโส ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดหนองแวง บ้านเมืองเก่า ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระครูเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์โพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ชานุหลิด เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น กับพระอาจารย์ของท่าน ต่อมาไม่นานพระอาจารย์ได้ลาสิกขาจากท่านไป ท่านจึงต้องทำหน้าที่เป็นสมภารวัดแทน ท่านได้บวชอยู่ ๔ พรรษา ในระหว่างที่บวชอยู่นั้นไม่มีความยินดีและพอใจในความเป็นอยู่ เพราะท่านได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการบวชตามพระเพณีเช่นนี้คงจะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ถ้าฝึกบวชและจำพรรษาอยู่อย่างนี้แล้วคงขาดทุนในการบวชแน่นอน เพราะเป็นการอยู่ด้วยความประมาททั้งวันทั้งคืนอยู่ตลอดเวลา เมื่อท่านพิจารณาเห็นโทษในความเป็นอยู่ ท่านจึงคิดอยากที่จะไปธุดงคกรรมฐานปฏิบัติภาวนาให้รู้แจ้งเห็นจริงให้ได้
การจะออกธุดงคกรรมฐาน ท่านมีความตั้งใจตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระฝ่ายมหานิกายอยู่ โดยครั้งหนึ่งท่านเคยพาสามเณรออกไปนั่งกรรมฐานที่ป่าช้า ท่านเล่าว่า วันหนึ่งมีคนตายใหม่เพิ่งเอาไปเผาเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ท่านไปกับสามเณรเพียง ๒ รูป ครั้นถึงป่าช้าท่านกับสามเณรแยกกัน ท่านไปอยู่ที่โคนไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง การภาวนาของท่านครั้งนั้นยังไม่มีครูบาอาจารย์สอน ท่านได้ศึกษาตามแบบแผนที่ท่านอ่านพบ และปฏิบัติภาวนาตามคือให้บริกรรมพุทโธ ท่านภาวนาไปสักพัก ทำให้เกิดจิตว่างจากความนึกคิด กายก็ปรากฏว่าหายไปหมด มีสติกับความรู้อยู่เฉย มีแต่ความสุขใจ ท่านนั่งภาวนาประมาณ ๓ ชั่วโมงจิตจึงถอนออก
จากพรรษาที่ ๑-๒-๓ ผ่านไป มีอยู่วันหนึ่งหลวงปู่คำดีมีความสงสัยเรื่องพระนั่งหลับตามาก จึงเข้าไปถามพระอาจารย์ ท่านตอบว่า “นั่นท่านนั่งภาวนา เรียกว่านั่งกรรมฐาน เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ท่านเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา อยู่ในถ้ำบำเพ็ญเพียรของท่าน”
ความนึกคิดและความรู้ใหม่ๆ นี้ ทำให้หลวงปู่คำดีสนใจมากเป็นพิเศษ ได้เก็บความรู้สึกนอนเนื่องในหัวใจตั้งแต่บัดนั้นมา ไม่เคยลืม แม้จะศึกษาทางด้านปริยัติธรรม สวดมนต์ทำวัตรโดยปกติก็ตาม
ต่อมาพรรษาที่ ๔ หลวงปู่คำดีเกิดเบื่อหน่ายในการศึกษาพระธรรมวินัยตามที่เคยเรียนรู้อยู่ ท่านจึงมาพิจารณาเองว่า การบวชของเรานี้ดูแล้วไม่มีอะไรเป็นแก่นเป็นสารเลย คงเป็นการบวชตามประเพณีอย่างที่เขาบวชกันเฉยๆ นั่นเอง แต่ถ้าเราได้ออกเดินธุดงค์เหมือนอย่างพระมาปักกลดข้างๆ วัด เราก็จะมีประโยชน์มาก อีกทั้งยังได้ประสบการณ์ที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นอีกด้วย ถ้ายังเป็นอยู่เช่นนี้คงไม่เป็นเพื่อพ้นทุกข์เสียแล้ว
เมื่อคิดได้ดังนั้น ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานไปว่า “ถ้าแม้ว่าข้าพเจ้ายังดำเนินชีวิตอยู่เช่นนี้ เห็นทีจะต้องลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตภายนอกแน่นอน แต่ถ้าแม้ว่าข้าพเจ้าสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมตามเยี่ยงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ทางพ้นทุกข์ดังเช่นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่เดินธุดงค์มาปักกลดเมื่อไม่นานมานี้แล้ว ก็ขอให้พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมาโปรดสั่งสอนแนะแนวทางแก่ข้าพเจ้าภายในสองวันนี้ด้วยเถิด”
หลังจากหลวงปู่ได้อธิษฐานแล้ว ๒ วัน ก็ปรากฏพระกรรมฐานเดินธุดงค์ผ่านมา และพักตรงบริเวณใต้ต้นไม้ใกล้ๆ วัด ที่เดียวกับพระธุดงค์ชุดก่อน ท่านมานึกถึงคำอธิษฐานได้ก็แสนจะดีใจ รีบหาน้ำฝนที่สะอาดไปถวาย ซึ่งในครั้งนี้มากันหลายองค์กระจายกันพักเป็นจุดๆ ไป เมื่อหลวงปู่ถวายน้ำแล้วได้กราบเรียนถามตามที่ตนสงสัยนั้นว่า “นี่พระคุณเจ้ามาจากไหน และจะเดินทางไปที่ใดครับกระผม”
พระธุดงค์ตอบว่า “พวกผมพากันเดินธุดงค์จะขึ้นเขา แต่นี่ผ่านมาจึงแวะพักเหนื่อย” หลวงปู่คำดีถามว่า “การเดินธุดงค์นี้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์สิ่งใดครับกระผม” พระธุดงค์ตอบว่า “เพื่อความวิเวกเพื่อหาความสงบและเพื่อโมกขธรรมคือความพ้นทุกข์” หลวงปู่คำดีนิ่งคิด เพราะเรื่องนี้เคยได้ถามพระอาจารย์มาแล้ว ท่านว่าหาทางพ้นทุกข์เหมือนกัน ท่านยิ่งเกิดความปีติยินดีในปฏิปทาของพระธุดงค์เหล่านั้นมาก ท่านมีความศรัทธาในอิริยาบถต่างๆ ที่พระธุดงค์แสดงออกมาให้เห็น
ท่านจึงออกปากพูดไปว่า “กระผมมีความสนใจมานาน พระคุณเจ้าจะรังเกียจหรือไม่ถ้ากระผมจะขอติดตามเดินธุดงค์ไปด้วย เพื่อพระคุณเจ้าจะได้อบรมสั่งสอนให้กระผมได้มีความรู้ความเข้าใจตามแนวทางปฏิบัติอย่างที่พระคุณเจ้ากระทำอยู่” พระธุดงค์จึงถามว่า “ท่านเป็นพระมหานิกายหรือธรรมยุต”
หลวงปู่คำดีตอบว่า “กระผมเป็นพระมหานิกายครับกระผม”
พระธุดงค์พูดว่า “ท่านเป็นพระมหานิกายไปกับพวกผมไม่ได้ เพราะบางสิ่งบางอย่างหลักธรรมวินัยเข้ากันไม่ได้ หมายถึงไม่เหมือนกัน อย่างเช่นพิธีการต่างๆ พวกผมไม่ได้รังเกียจท่านหรอก แต่ทางที่ดีถ้าท่านอยากไปเดินธุดงค์กับพวกผมจริงๆ แล้ว ขอให้ท่านไปญัตติใหม่เป็นธรรมยุตเสียก่อน จึงจะไปกับพวกผมได้ เอาละพวกผมก็พักเป็นเวลาสมควรแล้ว จะต้องรีบเดินธุดงค์ต่อไป”
หลังจากที่พระธุดงค์ชุดดังกล่าวจากไปแล้ว หลวงปู่มีความอึดอัดใจเพราะว่าพระธุดงค์บอกว่าถ้าจะร่วมไปกับท่านจริงต้องไปญัตติเป็นธรรมยุตก่อน ส่วนเราหรือก็ได้รับความเมตตาพระอาจารย์ ตลอดจนญาติโยมมากมาย แต่ใจหลวงปู่ก็ไม่อยากทิ้งความพยายามที่จะออกธุดงค์ ท่านรุ่มร้อนจิตใจจนทนไม่ได้ จึงอยากจะกราบพระอาจารย์ขออนุญาตลาไปญัตติใหม่ ถ้าท่านเมตตาเราแล้วท่านคงไม่ขัดขวาง ต้องยินดีกับการดำเนินชีวิตที่ดีที่ชอบของลูกศิษย์อย่างแน่นอน เพราะการเดินธุดงค์เป็นไปเพื่อหาทางพ้นเสียจากทุกข์ พระอาจารย์คงจะอนุโมทนากับเรา จึงได้หาโอกาสในวันหนึ่งเข้านมัสการพระอาจารย์เพื่อขอลาญัตติใหม่
เมื่อเข้ามาถึงตรงหน้าแล้วพระอาจารย์ถามว่า “มีธุระอะไรหรือ” หลวงปู่ตอบไปว่า “กระผมมีปัญหาอยู่ว่า กระผมมีความประสงค์ที่จะออกธุดงค์ แต่ในการเดินธุดงค์นั้น กระผมได้รับคำแนะนำว่า ให้ไปแปรนิกายใหม่เป็นธรรมยุต กระผมจึงมีความอัดอั้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์เห็นเป็นการสมควรประการใดครับกระผม”
พระอาจารย์ตอบว่า “ผู้เป็นพระคณาจารย์ใหญ่ในขณะนี้ท่านเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เป็นพระอาจารย์ปฏิบัติกรรมฐาน มีความสามารถเป็นยอด ท่านได้อบรมสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ให้ประพฤติปฏิบัติแนวทางพ้นทุกข์ จนสามารถมีดวงตาเห็นธรรมกันมากมี ถ้าแม้ว่าเป็นวาสนาของท่านคำดีแล้ว ควรจะรีบเร่งขวนขวายในขณะครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ จงไปดีนะ และขอให้ตั้งใจค้นคว้าหาสัจธรรมอันล้ำเลิศอันเป็นทางพ้นทุกข์ได้จริงแท้แน่นอน เป็นหนทางเอกของท่านคำดีแล้ว ขออนุโมทนาให้กุศลผลแห่งภาวนามัยนี้ด้วย ขอให้พบธรรม”
หลวงปู่คำดีแสนตื้นตันใจน้ำตาเอ่อนอนด้วยความปีติ นี่แหละหนอครูบาอาจารย์ผู้ประเสริฐ ผู้อยากเห็นศิษย์ได้ดีมีวิชชาต่อไปในอนาคต ท่านย่อมส่งเสริมเช่นนี้เสมอ หลวงปู่คำดีได้ลาพระอาจารย์แล้ว ยังคิดถึงโยมอุปัฏฐาก ท่านจึงได้บอกข่าวและมาประชุมกัน เพื่อขอลาเดินธุดงค์และจะเรียนรู้ในการแปรญัตติเป็นธรรมยุตด้วย
หลังจากที่หลวงปู่คำดีได้ยินคำอธิบายจากพระธุดงค์ผ่านไปไม่กี่วัน ท่านก็บอกคณะศรัทธาญาติโยมให้เตรียมบริขารที่จะไปทำการญัตติใหม่ ไม่กี่วันการเตรียมบริขารก็เสร็จเรียบร้อย จึงลาคณะศรัทธาญาติโยมเพื่อไปญัตติเป็นพระธรรมยุต คณะศรัทธาญาติโยมต่างก็อนุโมทนาทุกคน ท่านจึงออกเดินทางจากวัดหนองคู ซึ่งเป็นบ้านเกิดไปเมืองขอนแก่น ขออนุญาตเข้าพบ พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และนมัสการกราบเรียนให้ท่านช่วยญัตติเป็นพระธรรมยุต ท่านก็รับไว้ด้วยความเมตตา และพักจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) แห่งนี้จนกระทั่งหลวงปู่คำดีได้ฝึกหัดอ่านอักขระฐานกรณ์จากพระอาจารย์ได้เรียบร้อยไม่ขาดตกบกพร่อง ท่านจึงได้อนุญาตให้ญัตติได้เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง เวลา ๑๓.๓๐ น. เป็นอันเสร็จพิธี โดยมีพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดสังข์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมชาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านจำพรรษาที่วัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ครั้งแรกท่านอยู่องค์เดียว อาศัยคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านหาร้านที่พักให้ชั่วคราว ต่อมามีหมู่คณะไปด้วยมีพระ ๓ รูป ตาปะขาว ๑ คน ถ้ำกวางนี้เป็นสถานที่ที่มีป่าทึบห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร ก่อนที่ท่านจะมาถ้ำกวางนี้ท่านมุ่งมั่นทำความเพียรอย่างเดียว ยอมสละชีพเพื่อพรหมจรรย์ เพื่อมรรคผลนิพพาน ท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่ถ้ำกวางนี้ ๕ พรรษา ถ้าหากจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น ท่านก็จะไม่ยอมหนีให้เสียสัจจะโดยเด็ดขาด การจำพรรษาที่นี่ท่านได้ปฏิบัติภาวนาอย่างเอาเป็นเอาตาย
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านได้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียอย่างหนัก แม้แต่หมู่คณะของท่านทุกรูปก็เป็น ไม่มีใครดูแลกันได้เลย ได้อาศัยชาวบ้านหินร่องมาช่วยอุปัฏฐากดูแล ต่อมาพระ ๒ รูปมรณภาพและตาปะขาว ๑ คนได้ตายจากไป ส่วนพระที่ยังไม่มรณภาพต่างก็หนีไปที่ต่างๆ ไม่มีใครกล้าอยู่เพราะกลัวไข้มาลาเรียกัน สำหรับหลวงปู่คำดีได้มีคณะศรัทธาญาติโยมมาอ้อนวอนให้หนี แต่หลวงปู่อธิษฐานไว้แล้ว ท่านอยู่ของท่านรูปเดียวตลอดฤดูแล้ง พอจวนจะเข้าพรรษา มีพระไปร่วมจำพรรษาอีก ๔ รูป ตาปะขาว ๑ คน คือ พระอ่อน หลวงตาสีดา หลวงตาช่วง และตาปะขาวบัว (หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดราษฎรสงเคราะห์หรือวัดป่าหนองแซง ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี) ได้ร่วมกับเพื่อนพระด้วยกันปฏิบัติภาวนาจนกระทั่งออกพรรษา
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่คำดี ปภาโส ณ เจดีย์หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่
ในขณะที่อยู่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง จังหวัดขอนแก่น กลางฤดูแล้งปี พ.ศ. ๒๔๘๔ คิดอยากจะไปวิเวกที่ “ภูแก้ว” ซึ่งขณะนั้นไข้มาลาเรียยังไม่หายดี ก่อนไปคิดเสียสละตัดสินใจไป หากจะเป็นอย่างไรก็ยอมเป็น จะหายก็หาย จะตายก็ตาย ตัดสินใจอย่างนั้น ก็เล่าให้ลูกศิษย์ซึ่งเป็นไข้เหมือนกันฟัง
“ผมจะไปภูแก้ว ท่านจะไปด้วยไหม ถ้าผมไปผมยอมสละชีพได้น่ะ จะหายก็หาย จะตายก็ตาย หากถึงภูแก้วแล้ว ถ้าลงบิณฑบาตไม่ได้ ผมก็ไม่ลง หากชาวบ้านเขาไม่เอาอาหารมาส่งผมก็ไม่ฉัน”
โสสุด (ตั้งใจแน่นอน) อย่างนี้ก็ตกลงไปด้วยกัน หลวงปู่เป็นนักต่อสู้ผู้ล้ำเลิศจริงจังต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นยอด ถึงแม้ว่าสังขารร่างกายจะเป็นอย่างไร หลวงปู่ไม่เคยคิดเดือดร้อน ท่านถือว่าถ้าไม่ได้ธรรมแล้วขอยอมตาย สัจจวาจาที่ตั้งไว้บังเกิดผลได้
หลวงปู่คำดีไปอยู่ในถ้ำกวางแต่ละครั้ง ก็ล้มป่วยถูกชาวบ้านหามลงมาทุกครั้ง ท่านอธิษฐานอยู่ ๕ ปี ก็ต้องถูกหามลงมาทุกปีเหมือนกัน แต่อาศัยความเพียรเป็นเลิศ มุ่งตรงทางเอกปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างไม่มีอะไรจะเปลี่ยนจิตใจท่านได้ แม้สุขภาพไม่สมบูรณ์นักก็ตาม ความขยันในการประพฤติปฏิบัติภาวนาหลวงปู่ไม่เคยทอดทิ้งละเลย แม้ยามเจ็บป่วยหลวงปู่ยังมีสติพร้อมมูล มุ่งหวังธรรมะด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก
ปฏิปทาในการปฏิบัติของท่านๆ เอาความตายเข้าสู้ บางวันเดินจงกรมตลอดถึงมืดก็มี บางครั้งนั่งสมาธิตลอดคืน บางวันเดินจงกรมตลอดวันอีก การปฏิบัติของท่านปฏิบัติแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่ห่วงแม้แต่เรื่องการอาบน้ำ แม้เหงื่อจะไหลชุ่มโชกก็ตาม ท่านบอกว่าเหงื่อไหลตามตัวไม่เป็นไรแต่ใจมันเย็นชุมฉ่ำตลอดเวลา จึงไม่เกิดความรำคาญ ลูกศิษย์ที่ศึกษาปฏิบัติภาวนากับท่านกราบเรียนถามท่านอีกว่า “ท่านอาจารย์ กระผมเห็นท่านปฏิบัติภาวนาตลอดวันตลอดคืน ไม่ทราบว่าท่านเอาเวลาไหนนอน” ท่านตอบว่า “จิตมันพักอยู่ในตัวนอนอยู่ในตัว มีความยินดีและเพลิดเพลินในการปฏิบัติภาวนา จึงไม่รู้สึกเหนื่อยและไม่ง่วงนอน”
ในระหว่างที่ท่านวิเวกภาวนาอยู่ที่เขาตะกุดรังนั้น ท่านได้ถือสัจจะอันหนึ่ง คือ ท่านถือสัจจะฉันผลไม้แทนข้าวและอาหารสับเปลี่ยนกันไป คือ ฉันกล้วย มะพร้าว มัน เผือก น้ำอ้อย น้ำตาล ๕ วัน แล้วจึงกลับไปฉันอาหาร-หวาน ๓ วัน สลับกันเช่นนี้ตลอด เวลาขณะที่ท่านออกธุดงค์ประมาณ ๓-๔ เดือน ในระหว่างที่เร่งความเพียรอยู่นั้น ท่านพูดแต่น้อย ไม่มีเรื่องจำเป็นท่านไม่พูด คือ ท่านพยายามฝึกสติ ไม่ให้เผลอออกจากกายและใจไปทุกๆ อิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน
ท่านมีความเพียรพยายามจนจิตของท่านได้สมาธิใหม่สมความประสงค์ของท่าน จิตของท่านรวมอยู่เป็นวันเป็นคืนก็ได้ ขณะที่จิตของท่านได้กำลังเช่นนี้ ท่านได้พิจารณาธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดทั้งอาการ ๓๒ ก็เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านได้เพียรพยายามพิจารณาทะลุเข้าไปถึงเวทนาทั้ง ๓ ตลอดไปถึงสิ่งต่างๆ ก็เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านได้พิจารณาไปจนกระทั่งจิตแสดงความบริสุทธิ์ของจิตให้เห็นอย่างชัดเจน ขณะนี้แสดงว่า จิตของท่านได้ผ่านไตรลักษณ์ไปแล้ว
ครั้งหนึ่งเป็นฤดูแล้ง ตรงกับเดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ยินเสียงใบพลวงหล่นดังตั้งติ้งๆ ขณะที่หลวงปู่คำดีเดินจงกรมอยู่นั้นประมาณ ๓ ทุ่ม สมัยนั้นใช้เทียนไขตั้งไว้ตรงกลางโคมผ้าที่ทำเป็นรูปทรงกลม เจาะรูมันก็สว่างดี ลมพัดไฟก็ไม่ดับ มองไกลๆ เห็นแดงร่า ทางจงกรมสูงขึ้นไปจากพื้นประมาณ ๒ เมตร เงียบสงัดดี ได้ยินแต่เสียงใบพลวงตกดังตั้งติ้งๆ ทันใดนั้นได้ยินเสียงสัตว์ขู่ ได้ยินเสียงขู่ครั้งแรก สงสัยเสียงอะไรแปลกๆ ใจมันบอกว่า “เสือ” แต่ก็ยังไม่แน่ใจ จึงเดินกำหนดจิตกลับไปกลับมาที่ทางจงกรมอยู่อย่างนั้น มันขู่ครั้งที่สอง นี่ชัดเสียแล้ว มันดังชัด “อา..อา..อา..อา !” เสียงหายใจดังโครกคราก ไกลออกไปประมาณ ๑๐ เมตร ไม่นานนักได้ยินเสียงขู่คำรามอีก มาอยู่ใกล้ๆ ทางจงกรม แหงนหน้าขึ้นดู แล้วขู่ อา..อา..อา..อากลัวแสนกลัว ยืนอยู่กับที่
เผลอไปพักหนึ่ง จิตมันจึงบอกว่า “กรรม” พอจิตมันแสดงความผุดขึ้นในใจว่า “กรรม” ก็มีสติดีขึ้น ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และครูบาอาจารย์ พอระลึกได้แล้ว มีสติปกติ จึงได้พูดกับมันว่า ถ้าเราเคยทำกรรมทำเวรต่อกัน ถ้าจะขึ้นมากินข้าพเจ้าจงขึ้นมากินเถิด ถ้าเราไม่เคยทำเวรทำกรรมต่อกัน ก็จงหนีเสีย เรามาอยู่ที่นี่ก็ไม่เคยรบกวนใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ว่าสัตว์ตัวเล็กและสัตว์ตัวใหญ่ เรามาที่นี่เพื่อมาปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมเท่านั้น พอระลึกได้จิตตั้งมั่นแล้ว หายกลัว ความกลัวหายหมดเลย ไม่มีความกลัว เกิดความเมตตา รักมัน ฉวยโคมได้ออกตามหามันทันที ถ้าพบแล้วจะไม่มีความกลับ ไม่ว่าจะเป็นเสือเล็กหรือเสือใหญ่ สามารถจะเข้าลูบหลังและขี่หลังมันได้
อีกครั้งหนึ่งหน้าแล้งปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ท่านได้เดินทางไป วัดบ้านเหล่านาดี (วัดป่าอรัญวาสี) บ้านเหล่านาดี ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เพื่อเป็นประธานสร้างกุฏิที่ญาติโยมเขามีศรัทธาที่จะสร้างเป็นอนุสรณ์ในด้านวัตถุถาวรไว้ แต่ท่านไม่รู้สึกยินดี เพราะท่านชอบสันโดษ ไม่มีนิสัยชอบก่อสร้าง ส่วนที่เห็นว่าทางวัดมีการสร้างสิ่งต่างๆ ส่วนมากเป็นศรัทธามาสร้างถวาย ท่านก็ไม่ขัดศรัทธา
การก่อสร้างกุฏิที่วัดนี้ก็เช่นเดียวกัน มีศรัทธา ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งต้องการก่อสร้าง อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการสร้างไม่เป็นที่ตกลงกัน ฝ่ายที่ต้องการสร้างไม่ฟังเสียงคัดค้านได้ดำเนินการก่อสร้างไปเลย เมื่อรีบเตรียมหาวัสดุก่อสร้าง พวกที่คัดค้านก็หาเรื่องคัดค้านฟ้องร้องกัน หาว่าทำผิดกฎหมายบ้านเมืองให้เจ้าหน้าที่มาจับ
พอออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านกลับไปวัดบ้านเหล่านาดี อีกครั้ง พอดีกับการก่อสร้างเสร็จ ทางญาติโยมที่มีจิตศรัทธาก็ได้ทำบุญถวายกุฏิเป็นที่เรียบร้อย
ในปีนั้น พวกโยมที่คัดค้านการก่อสร้างกุฏิ และกลั่นแกล้ง พูดจาก้าวร้าวท่านต่างๆ นานับประการนั้น คนที่เป็นหัวหน้าเกิดอาเจียนเป็นเลือดตาย ส่วนอีกคนหนึ่งนอนหลับตาย พวกญาติๆ ของฝ่ายคัดค้านเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็กลัวกันมาก เกรงว่าบาปกรรมที่พวกตนทำไว้กับพระสงฆ์จะตกสนองเช่นเดียวกับสองคนแรก จึงพากันไปกราบนมัสการขอขมาโทษจากท่านๆ จึงเทศน์ให้ฟังว่า
“เรื่องเป็นเรื่องตายไม่ใช่เรื่องของอาตมา เป็นเรื่องของพวกเขาต่างหาก เป็นเพราะใครทำกรรมอย่างใดก็ได้รับผลของกรรมอย่างนั้น ส่วนพวกเจ้าทำกันเองพวกเจ้าคงจะรู้ว่าเป็นเพราะอะไร” แล้วท่านก็ให้พากันทำคารวะสงฆ์ หลวงปู่พร้อมด้วยสงฆ์ก็ให้ศีลให้พร และท่านได้เทศน์ให้สติเตือนใจอีกว่า
“นี่แหละ การเบียดเบียนท่านผู้มีศีลย่อมได้รับกรรมทันตา เห็นจะหาว่าไม่มีบาปมีบุญที่ไหนได้ ศาสนามีทั้งคุณและโทษ ถ้าผู้ปฏิบัติดีก็นำพาจิตใจคนเหล่านี้ขึ้นสวรรค์นิพพาน ถ้าคนเหล่านี้ปฏิบัติไม่ดี ก็พาคนเหล่านั้นตกนรกอเวจีก็มีมาก เรื่องบาปกรรมย่อมไม่ยกเว้นให้กับใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเณร หรือเจ้านายชั้นไหนๆ ก็ตาม ถ้าทำบาปลงไปเป็นบาปทั้งนั้น ไม่มีการยกเว้น ลำเอียง”
รูปหล่อเหมือนหลวงปู่คำดี ปภาโส ประดิษฐาน ณ พระธุตังคเจดีย์
วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นต้นมา หลวงปู่คำดี ปภาโส หลังจากล้มป่วยลงมาจากป่าเขาพงไพร แล้วอาการต่างๆ ในร่างกายของท่านอ่อนแอมาตลอด หลวงปู่เป็นผู้มีจรรยาวัตรการธุดงค์และการประพฤติดีปฏิบัติชอบมาตลอด หลวงปู่มีลูกศิษย์มากมายทั้งเป็นสงฆ์และฆราวาสโดยทั่วไป บุคคลผู้ที่ไม่เคยพบหลวงปู่คำดี เลย เพียงได้ยินชื่อหรือภาพที่เผยแพร่ออกไปยังหมู่ชนเท่านั้น ก็บังเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า สละบ้านการงานมาศึกษา
ต่อมาหลวงปู่คำดีได้ไปพบถ้ำผาปู่ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นสภาพป่า แต่เป็นสถานที่เก่าแก่ของวัดโบราณและได้รกร้างมานาน หลวงปู่คำดีเข้าไปปักกลดบำเพ็ญภาวนา เห็นว่ามีความสงบวิเวกดี เหมาะแก่การปฏิบัติ ต่อไปภายหน้าจะมีผู้ที่สนใจใคร่ประพฤติธรรมมาใช้สถานที่แห่งนี้กันมาก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันสร้างกุฏิหลังหนึ่งเพื่อถวายหลวงปู่อยู่จำพรรษา ต่อมาชื่อเสียงของหลวงปู่คำดี พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้ขจรไปยังชาวจังหวัดเลยมากขึ้น
จนมีผู้ศรัทธาทั้งหลายในจังหวัดพากันสละเงิน เสริมสร้างเสนาสนะมากขึ้นหลายหลัง อีกทั้งศาลาหลังใหญ่ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ชาวบ้านทั้งหลายจึงนิมนต์หลวงปู่อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่นิมิตร จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เป็นที่น่ายินดีที่ชาวจังหวัดเลย ได้เพชรน้ำงามที่เจียระไนแล้วมาเป็นมิ่งขวัญประดับจิต ประดับใจแห่งชีวิต ด้วยร่างกายของท่านไม่ดี ท่านมักเตือนลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า “ร่างกายสังขารของผมแย่สมควรแล้ว ถ้าเป็นรถยนต์ก็ทิ้งได้แล้ว ถ้าหากผมล้มป่วยคราวนี้คงไม่ไหวแน่ ถ้าหมู่คณะจะรักษาร่างกายผม ก็รีบจัดการรักษาเสีย”
พวกสานุศิษย์ทั้งหลายเห็นท่านพอเดินได้ พูดได้ ฉันได้ เทศน์ได้ ก็พากันใจเย็นและจัดหาให้ฉันตามปกติ แต่ไม่ได้พาหลวงปู่เข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ต่อมาวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ตอนเช้าหลังจากฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เรียกญาติโยมทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว ท่านก็พูดว่า “มาฟังเทศน์กัน อาตมาจะเทศน์ครั้งสุดท้าย ต่อไปจะไม่ได้เทศน์อีกแล้ว จะไม่ได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์อีกแล้ว และจะไม่ได้พูดกันอีกต่อไป” พระลูกศิษย์และโยมทั้งหลาย เมื่อได้ฟังคำพูดของหลวงปู่อย่างนั้นก็พากันแปลกใจ แต่ไม่มีผู้ใดเฉลียวใจว่า คำพูดของท่านนั้นเป็นการพูดครั้งสุดท้ายจริงๆ หลวงปู่เริ่มเทศน์เรื่อง “ความไม่ประมาท”
เมื่อท่านเทศน์จบ ลูกศิษย์ลากลับแล้ว ท่านเข้าพักผ่อนตามอัธยาศัยของท่าน จนกระทั่งเวลา ๑๕.๐๐ น. ของวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านเดินเข้าห้องน้ำล้างหน้าเรียบร้อยแล้ว ท่านก็พูดขึ้นว่า “ผมเป็นลม” ขณะนั้นมีพระอุปัฏฐานท่าน ๔ รูป ได้ประคองท่านนอนลงที่อาสนะ เมื่อนอนลงแล้วท่านไม่พูดไม่คุยกับใครทั้งนั้น มีแต่นอนเฉยๆ ไม่มีการขยับตัว ลูกศิษย์ต่างก็พากันตกใจ ต่างก็หายามาให้ท่านฉัน แต่ไม่หาย จนถึงเวลา ๑๘.๐๐ น. ก็ให้โยมไปเชิญหมอจากโรงพยาบาลมาตรวจดูอาการของหลวงปู่ มีการฉีดยา ให้น้ำเกลือ ท่านก็ยังไม่ฟื้น
รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ คุณหมอก็สวนปัสสาวะให้ท่าน สายยางที่สวนเข้าไปทำให้เกิดเป็นแผลภายใน เลือดไหลไม่หยุด ลูกศิษย์จึงปรึกษาว่าควรพาไปรักษาตัวในกรุงเทพฯ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ คณะศิษยานุศิษย์นำหลวงปู่ ถึงโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ตรวจสอบอาการของหลวงปู่ แล้วให้การบำบัดรักษาประมาณ ๙ เดือน อาการหลวงปู่ดีขึ้นเป็นลำดับ ศิษยานุศิษย์จึงเห็นสมควรให้ท่านกลับวัดถ้ำผาปู่นิมิตร
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ อาการไข้ได้กำเริบขึ้นอีก นายแพทย์ปัญญา ส่งสัมพันธ์ จึงส่งรถพยาบาลมารับท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ที่กรุงเทพฯ อีก คราวนี้มีแต่ทรงกับทรุดมาตลอด พอถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๑๓.๑๓ น. หลวงปู่ท่านก็สิ้นลมจากไปด้วยอาการสงบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดรับเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญพระราชกุศลตลอด ๗ วัน และบำเพ็ญพระราชกุศล ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วันตามลำดับ
สำหรับอาพาธของหลวงปู่รวมสองครั้งดังนี้ ครั้งแรกเป็นเวลา ๙ เดือน ครั้งที่สองเป็นเวลา ๙ เดือน สิริรวมอายุจนถึงวันมรณภาพได้ ๘๓ ปี รวมพรรษาธรรมยุตได้ ๕๗ พรรษา ๓ เดือน ๒๓ วัน
๏ ลำดับการจำพรรษา
ปี พ.ศ. ๒๕๗๑ จำพรรษาที่วัดบ้านยาง ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ จำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๕ จำพรรษาที่วัดป่าหนองกุ บ้านหนองคู ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๘๐ จำพรรษาที่วัดป่าช้าดงขวาง บ้านโนนฝรั่ง ตำบลหัวทะเล จังหวัดนครราชสีมา
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ จำพรรษาที่วัดป่าอภัยวัน บ้านทุ่ม ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๖ จำพรรษาที่วัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๓ จำพรรษาที่วัดป่าชัยวัน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จำพรรษาที่วัดป่าอรัญญวาสี (วัดบ้านเหล่านาดี) บ้านเหล่านาดี ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จำพรรษาที่วัดป่าชัยวัน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๗ จำพรรษาที่วัดป่าคีรีวัน (วัดคำหวายยาง) บ้านภูพานคำ ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๐๘ จำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ จำพรรษาที่วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๒๕ จำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
ปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๗ จำพรรษาที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร (เพื่อรักษาอาการอาพาธ)
๏ ลำดับสมณศักดิ์
ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ “พระครูญาณทัสสี”
ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามเดิม
อัฐิธาตุหลวงปู่คำดี ปภาโส ประดิษฐาน ณ พระธุตังคเจดีย์
วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
๏ ธรรมโอวาท
หลวงปู่คำดี ปภาโส ท่านมักจะอบรมลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอๆ ว่า “เรามีตาเท่ากับว่าไม่มีตา มีหูเท่ากับว่าไม่มีหู มีท้องก็ฉันอยู่ได้ไปวันๆ เท่านั้น ไม่ต้องแสดงความโลภและตะกละ ให้พากันสำเหนียกไว้เรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลง จะต้องมีด้วยกันทุกคน ถ้าพูดถึงความโลภ เมื่อมันมีเจตนาบันดาลเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะมืด ไม่รู้จักบาปบุญ ไม่กลัวคุกกลัวตะราง อันนี้เรียกว่าฤทธิ์ของมัน ท่านจงให้ระวังดีๆ ในเรื่องของสามประการนี้ท่านสอนว่า อย่าไปปรุงแต่งตามมัน ให้มีสติรู้เท่าทันมัน เมื่อเราปฏิบัติได้อย่างนี้แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง เหล่านี้ก็จะเสื่อมอำนาจไป
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราประสงค์จะเอาสิ่งใด เราจะต้องพิจารณาเหตุเสียก่อน เมื่อพิจารณาดูแล้วว่ามันไม่ผิดศีลธรรม เราก็สามารถเอาได้ แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วว่ามันผิดศีลผิดธรรม เราก็ละเสียไม่เอา นี่แสดงว่าเราไม่ปรุงแต่งตามมัน ในความอยากได้หรือความโลภ และเราก็มีสติรู้เท่ามัน คือมีการพิจารณาในเหตุในผลเสียก่อน ถ้าเราประพฤติได้ในลักษณะนั้น เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนดี กระทำแต่ในสิ่งที่ดี มีแต่บุญกุศล ถ้าพูดสั้นๆ ก็หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีผลเท่านั้น คือถ้าเราทำเหตุดีก็จะได้รับผลดี แต่ถ้าเราทำเหตุชั่ว เราก็จะได้รับผลชั่ว
แต่การที่จะทำเหตุที่ดีนั้น มนุษย์เราทำกันอย่างยากหนา ที่ว่าทำยากเพราะอะไร ? คือมนุษย์บางเหล่าไม่รู้จักเหตุและผล จึงไม่รู้จักเลือกเฟ้นทำเหตุที่ดีกัน และอีกอย่างหนึ่งก็คือพวกเรานี้ไม่ค่อยชอบกระทำเหตุที่ดีกัน แต่ผลดีของมันนั้นชอบกันทุกคน
ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย คำว่าตายในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเราตาย หมายถึง จิตใจคนเราตาย คือตายจากมรรคผลนิพพานต่างหาก ความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย คือไม่ประมาทต่อการทำความดี ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา มีโอกาสจะได้ไปสวรรค์ พรหมโลก หรือมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่ง ตลอดถึงพระนิพพานข้างหน้าแน่นอน ช้าหรือเร็วแล้วแต่บุญบารมีหรือความพากเพียรของตนเอง
ความไม่ประมาท คือ เป็นผู้มีสติจดจ่ออยู่ที่กายและใจ ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่มีการเผลอสติจากอิริยาบถทั้ง ๔ จึงจัดว่าเป็นผู้ไม่ประมาทเข้าใจไหม (ท่านถามลูกศิษย์)” นี่คือเทศน์ครั้งสุดท้ายของท่านก่อนที่จะล้มป่วย
คำว่าฟังเทศน์หมายความว่า เอาใจฟังอย่าให้ใจหนีจากตัว ใจผู้ใดก็ให้รักษาอยู่กับตัว อย่าให้ใจหนีจากตัว ใจผู้ใดก็ให้รักษาอยู่กับตัว ให้รู้อยู่กับภาวนา หรือให้รู้อยู่เฉพาะใจ อย่าให้ร่างกายนั่งอยู่ที่นี่แต่ใจมันคิดไปที่อื่น ก็ชื่อว่าใจไม่ฟัง คำว่าใจฟังคือใจจดจ่อ สะท้อนให้ละความชั่ว ประพฤติความดี ความชั่วก็ได้แก่บาปนั่นแหละ ความดีก็ได้แก่บุญกุศลนั่นแหละ แต่เกี่ยวเนื่องอยู่กับจิตใจของเรา ถ้าพูดให้สั้นๆ เอาเฉพาะใจความโอวาทของพระพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านก็ย่นลงมาเป็น ๓ ข้อด้วยกันคือ
(๑) พระพุทธเจ้าสอนให้ละกายทุจริต และประพฤติกายให้สุจริตนี้เป็นข้อที่หนึ่ง
(๒) ให้ละวาจาทุจริต และให้ประพฤติวาจาให้สุจริต
(๓) ให้ละมโนทุจริต และให้ประพฤติใจให้สุจริต
จะพูดถึงบาป อกุศลกรรมบทหมายความว่า การทำบาปทั้งหลายก็รวมมาอยู่ที่อกุศลกรรมบท ๑๐ ประการนั่นแหละ คำว่าบุญกุศลก็รวมอยู่ที่กุศลกรรมบท ๑๐ ประการนั่นแหละ ชื่อว่ากายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ถ้าพูดให้สั้นให้น้อยลงไปอีก กายกรรม ๓ และวจีกรรม ๔ เป็นกิริยา การทำบาป ย่นลงมาทางใจคือ ใจโลภ ใจหลง มี ๓ อย่างเท่านั้นแหละเป็นต้นเหตุ ตกลงอกุศลกรรมบทก็หมายใจเท่านี้แหละเป็นต้นเหตุ ตกลง อกุศลกรรมบทก็หมายใจเท่านั้น หมายใจดวงเดียวคือใจ ก็หมายอันเดียวเรียกว่า เอกังจิตตัง ที่เรียกว่า จิต หัวใจ ก็เรียกว่าเป็นใจดวงเดียว เอกมโนเรียกว่า ใจอันเดียว
ตกลงผู้ที่เบื่อความทุกข์ เบื่อความโง่ เบื่อความเป็นบาป ก็มาปฏิบัติแก้กายทุจริตให้เป็นกายสุจริต แก้วจีทุจริตให้เป็นวจีสุจริต แก้มโนทุจริตเป็นมโนสุจริต นี้เป็นวิธีปฏิบัติ ถ้าเราจะเทียบในทางโลกเหมือนกับพวกชาวไร่ ชาวนาที่มีไร่มีนา แต่ก่อนมันก็เป็นป่าเป็นดงนั่นแหละ เมื่อถือสิทธิ์แล้วก็จึงสร้างจึงถากถาง ทำให้เป็นไร่เป็นสวนทำให้บริสุทธิ์ ทำนาก็ให้เป็นนาจริงๆ ทำสวนก็ให้เป็นสวนจริงๆ
คนทุกข์คนจนในโลกนี้ไม่ใช่ทุกข์เพราะเสือกิน ไม่ใช่ทุกข์เพราะงูร้ายกัด ไม่ใช่ทุกข์เพราะช้างฆ่า แต่ทุกข์เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลงของตน จะทุกข์เพราะสิ่งใดๆ ก็ตาม ตัวความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่แหละเป็นผู้ฆ่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง สามสิ่งนี้ร้ายกาจกว่าสิ่งอะไรทั้งหมด ร้ายกว่าผีร้าย ร้ายกว่าเสือร้าย ร้ายกว่างูร้าย ไม่มีสิ่งไหนจะร้ายกว่าตัวความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะฉะนั้นให้ระวังที่สุด เรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลง สามประการนี้ มันสามารถทำให้ผู้รู้แจ้งเป็นคนมืดก็ได้ ฤทธิ์ของมันน่ะ มันอยู่เหนือทุกคนในโลกที่ได้เกิดมาในโลกนี้ ยกเว้นเสียแต่พระอรหันต์
๏ ปัจฉิมบท
ด้วยความขยัน อดทน พากเพียร และจริงใจในการปฏิบัติบูชา เพื่อมุ่งหวังในพระธรรม เป็นผลให้หลวงปู่ได้พบหนทางแห่งการดับทุกข์และความพ้นทุกข์ และเป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย เป็นพระสุปฏิปันโน พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ธรรมโอวาทและการปฏิบัติของหลวงปู่ปรากฏในข้อความข้างต้นนี้ คงจะเป็นประโยชน์ต่อสาธุชนผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน
เจดีย์หลวงปู่คำดี ปภาโส ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าวัดถ้ำผาปู่
พิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่
.............................................................
♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก :: หนังสือแก้วมณีอีสาน
http://www.manager.co.th/Dhamma/
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง
หลวงปู่หลุย จันทสาโร
หลวงปู่หลุย จันทสาโร
กล่าวพรรณนาพระคุณ “หลวงปู่คำดี ปภาโส”
...เผอิญได้พบที่ท่าน (หลวงปู่หลุย จันทสาโร) บันทึกไว้อีกตอนหนึ่ง เป็นการพรรณนาพระคุณของ หลวงปู่คำดี ปภาโส (พระครูญาณทัสสี) และเรื่องของถ้ำผาปู่ จึงใคร่ขออัญเชิญนำมาลงด้วยเป็นคู่เคียงกัน แสดงถ้อยคำสำนวนที่ท่านเขียนไว้ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ เช่นเดียวกัน
“พระครูคำดี ญาณทัสสี พ.ศ. ๐๔”
“ขอท่านศาสนิกชนทั้งหลายกรุณาทราบไว้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสี (คำดี) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีพรรษาไล่เลี่ยกับอาตมากับท่านอาจารย์ชอบ นับตั้งแต่ญัตติธรรมยุตมา ได้เคยไปฝึกปรือวิปัสสนาธุระกับท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น ที่จังหวัดขอนแก่น ด้วยกันกับอาตมา ท่านอาจารย์ชอบฉายความรู้มาจากอาจารย์เดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔-๒๔๗๕ นั้นๆ”
“นิสัยท่านพระครูญาณชอบอยู่ในที่วิเวก ชอบเจริญสมณธรรมในถ้ำภูเขา ชอบปกครองพุทธบริษัท เพื่อนสหธรรมิก พระภิกษุ สามเณร ตลอดแม่ขาวนางชี และคณะอุบาสก อุบาสิกา ฉะนั้น ท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหานั้นมาก นิสัยสุขุม ฉะนั้นบริษัทจึงชอบนัก แม้ท่านพระครูญาณทัสสีท่านเคลื่อนไปสู่จังหวัดไหน อำเภอไหนตำบลไหน ท่านทำอัตถประโยชน์มาก เห็นได้ว่าท่านพระครูญาณทัสสีอยู่จังหวัดขอนแก่น วัดวา ฝีไม้ลายมือของท่านก่อสร้างมีจำนวนมาก บรรดาข้าราชการ พ่อค้าพาณิชย์ ตลอดชาวไร่ชาวนา นิยมท่านมาก เพราะฉะนั้นการก่อสร้างของท่านจึงสำเร็จเพราะกำลังกาย กำลังวาจา กำลังทรัพ ย์เพียงพอทุกอย่าง ไม่บกพร่อง แม้ท่านพระครูญาณทัสสีจะดำเนินงานการใหญ่ๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี ดูได้ที่จังหวัดขอนแก่น มีวัดป่าคำมะยาง ๑ วัด วัดศรีภาพ ๑ วัด เป็นวัดที่ทุ่มเทเงินทองก่อสร้าง มีจำนวนมากๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี”
“อนึ่ง ท่านได้เคลื่อนพาลูกศิษย์ลูกหามาอยู่ถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย ของพวกเรา ดูได้ที่การก่อสร้าง ถ้ำผาปู่ ๑ วัด วัดหนองหมากผาง ๑ วัด เป็นวัดที่กว้างขวางใหญ่โต ท่านพระครูญาณทัสสีเพิ่งมาอยู่ไม่นานเท่าไรปี เวลานี้วัดถ้ำผาปู่ วัดหนองผาง กำลังก้าวหน้าเรื่อยๆ มีคณะอุบาสกอุบาสิกาต่างจังหวัดมาเยี่ยมท่านเรื่อยๆ และมีพระภิกษุสามเณรมาจากต่างจังหวัดอื่นๆ มาเยี่ยม ศึกษาธรรมวินัยด้วยท่านเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น สังฆรัตนะจึงตกเข้ามาในท้องที่จังหวัดเลยมาก มีวัดป่าหนองหมากผางและถ้ำผาปู่เป็นอาทิ”
“ท่านพระครูญาณทัสสีเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำผาปู่ก็จริง ปีไหนมีโอกาสดีๆ ท่านก็ไปอำเภอเชียงคานบ้าง ไปอำเภอวังสะพุงบ้าง แผ่อริยธรรม ให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ส่วน อ.ท่าลี่ อ.ด่านซ้าย นั้นท่านไม่มีโอกาสไป ด้วยหนทางไกล ไม่สะดวกในการเดินทาง ก็มีอันเตวาสิกสานุศิษย์ของท่านไปเที่ยววิเวกเพื่อทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ ต่อคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายในถิ่นตำบลอำเภอนั้นด้วย ได้รับความอบรมศึกษาธรรมวินัยเป็นอย่างดี ฉะนั้นก็แลเห็นได้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสีทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ให้จังหวัดเลยเป็นอันมาก ดุจท่านอยู่จังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน”
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
.............................................................
♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
หนังสือจันทสาโรบูชา โดย คุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต
http://www.dharma-gateway.com/
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง