E-Books

ค้นหา

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
5517411

whosonline

มี 75 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

พระธรรมเทศนา ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

วัดป่าอุดมสมพร จ. สกลนคร

พระธรรมเทศนา

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

จากหนังสือ ภาพ ชีวประวัติและ

ปฏิปทาของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๔๒ ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในตระกูล “สุวรรณรงค์”เจ้าเมืองพรรณานิคม

บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) ผู้เป็นหลานปู่ของ พระเสนาณรงค์ (นวล) และหลานอาของ พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ ๒ และที่ ๔ ตามลำดับ

มารดาของท่านชื่อ นุ้ย เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์

พี่น้องร่วมบิดามารดา มีอยู่ทั้งหมด ๘ คน ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็ก ๒ คน ส่วนอีก ๖ คน ได้แก่

๑. นางกองแก้ว อุปพงศ์

๒. ท้าวกุล

๓. นางเฟื้อง

๔. พระอาจารย์ฝั้น

๕. ท้าวคำพัน

๖. นางคำผัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกคนสู่สุคติภพไปสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่ลูกหลานที่สืบสกุลอยู่ทุกวันนี้เท่านั้น

 

บ้านบะทอง อ.พรรณานิคม

เมื่อบุตรทุกคนเจริญวัยเป็นท้าวเป็นนางแล้ว เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ผู้บิดา ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่น ๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ ไปตั้งบ้านใหม่ขึ้นอีกหมู่หนึ่ง ให้ชื่อว่าบ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่ดังกล่าวได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ก็เพราะเห็นว่า สถานที่ใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่นวัว ควาย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือ ลำห้วยอูนอยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ

ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) บิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวางและเยือกเย็นเป็นทีประจักษ์มาช้านาน

สำหรับพระอาจารย์ฝั้น เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยรุ่น มีความประพฤติเรียบร้อย อ่อนโยน อุปนิสัยในคอเยือกเย็นและกว้างขวาง เช่นเดียวกับบิดา ทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค หนักเอาเบาสู้ ช่วยเหลือกิจการงานของบิดามารดาและญาติพี่น้อง โดยไม่เห็นแก่ความลำบากยากเย็นใด ๆ ทั้งสิ้น

ส่วนในด้านการศึกษานั้น พระอาจารย์ฝั้นได้เริ่มเรียนหนังสือมาตั้งแต่ครั้งยังอยู่ที่บ้านม่วงไข่ โดยเข้าศึกษาที่วัดโพธิชัย แบบเรียนที่เขียนอ่านได้แก่ มูลบทบรรพกิจเล่ม ๑ –๒ ซึ่งเป็นแบบเรียนที่วิเศษสุดในยุคนั้น ผู้ใดเรียนจบจะแตกฉานในด้านการอ่านเขียนไปทุกคน ผู้เป็นอาจารย์สอนหนังสือแก่ท่านในครั้งนั้น ได้แก่พระอาจารย์ตัน (บิดาของ พันตรีนายแพทย์ตอง วุฒิสาร) กับนายหุ่น (บิดาของ นายบัวดี ไชยชมภู ปลัดอำเภอพรรณานิคม)

ปรากฏว่า ท่านมีความหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมาก สามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่น ๆ ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์ให้เป็นครูสอนเด็ก ๆ แทน ในขณะที่อาจารย์มีกิจจำเป็น

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปศึกษาต่อกับนายเขียน อุปพงศ์ พี่เขยที่เป็นปลัดขวา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปเป็นปลัดขวา อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย

เมื่อจบการศึกษา อ่านออกเขียนได้อย่างแตกฉานแล้ว พระอาจารย์ฝั้นมีความตั้งใจที่จะเข้ารับราชการ เพราะเป็นงานที่มีหน้ามีตา ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนในสมัยนั้น แต่ภายหลังได้เปลี่ยนความตั้งใจเดิมเสียโดยสิ้นเชิง

สาเหตุที่ท่านเกิดไม่ชอบงานราชการนั้น ก็เพราะเมื่อครั้งไปเล่าเรียนกับพี่เขยที่ขอนแก่น พี่เขยไห้ใช้เอาปิ่นโตไปส่งให้นักโทษอยู่เสมอ นักโทษคนหนึ่งคือ พระยาณรงค์ฯ เจ้าเมืองขอนแก่นนั้นเอง ท่านต้องโทษฐานฆ่าคนตาย จึงถูกคุมขังตามกระบิลเมือง นอกจากนี้ยังมีข้าราชการถูกจำคุกอีกบางคน เช่น นายวีระพงศ์ ปลัดซ้าย เป็นต้น ต่อมาพี่เขยได้ย้ายไปเป็นปลัดขวาที่อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย ครั้นเมื่อท่านเดินทางไปเยี่ยม ก็พบพี่เขยต้องหาฆ่าคนตายเข้าอีก เมื่อได้เห็นข้าราชการใหญ่โตได้รับโทษ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยานาหมื่นดังกล่าว ท่านจึงเปลี่ยนใจ ไม่อยากเข้ารับราชการเหมือนกับคนอื่น ๆ รีบลาพี่เขยกลับสกลนครทันที ซึ่งสมัยนั้นการคมนาคมมีทางเดียวคือทางบก จากจังหวัดเลยผ่านอุดรธานีถึงสกลนคร ท่านต้องเดินเท้าเปล่าและต้องนอนค้างกลางทางถึง ๑๐ คืน

ปรากฏว่า สภาพของบรรดานักโทษที่ท่านประสบมาทั้งโทษหนักโทษเบา ได้มาเป็นภาพติดตาท่านอยู่เสมอตั้งแต่นั้น นับได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านรู้จักปลง และประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต

 

พระอุโบสถวัดสิทธิบังคม

เมื่อกลับมาจากจังหวัดเลยมาถึงบ้านแล้ว ใน (ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี)ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง ขณะที่ยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านเอาใจใส่ศึกษาและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอันมาก ถึงขนาดคุณย่าของท่านได้พยากรณ์เอาไว้ว่า

ในภายภาคหน้า ท่านจะเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าขมิ้น จนตลอดชีวิต ระหว่างนั้นจะสร้างแต่คุณความดีอันประเสริฐเลิศล้ำค่า จะเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใส ประชาชนทุกชั้นตั้งแต่สูงสุดจนต่ำสุด ทุกเชื้อชาติศาสนาที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่าน จะบังเกิดความเลื่อมใสในตัวท่านและรสพระธรรมที่ท่านเทศนาเป็นอันมาก

 

พระครูสกลสมณกิจ

(อาญาครูธรรม)

ครั้นถึงอายุ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดสิทธิบังคม ที่บ้านไฮ่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยพระครูป้อง (นนทะเสน)เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สัง กับ พระอาจารย์นวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดสิทธิบังคม ท่านได้ท่องบ่นเจ็ดตำนานจนจบบริบูรณ์ ขณะเดียวกันพระอุปัชฌาย์ของท่านก็ได้สอนให้รู้จักวิธีเจริญกัมมัฏฐานตลอดพรรษาด้วย

ออกพรรษาปีนั้น ท่านได้กลับมาอยู่ที่วัดโพนทอง ซึ่งมีท่านอาญาครูธรรม เป็นเจ้าอาวาส (ภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสกลสมณกิจ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร) ท่านอาญาครูธรรมชอบฝึกกัมมัฏฐานให้พระลูกวัดเสมอ หลังออกพรรษาระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือน ๔ ท่านได้ชักชวนพระลูกวัดออกเที่ยวธุดงค์ ไปฝึกหัดภาวนาเจริญกัมมัฏฐานตามเขาลำเนาไพร ตามถ้ำตามป่าช้าต่าง ๆ ที่เป็นที่วิเวก ซึ่งพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ติดตามไปด้วย

 

วัดป่าภูไทสามัคคี บ้านม่วงไข่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

การฝึกหัดภาวนาในสมัยนั้น มีวิธีฝึกใจให้สงบโดยอาศัยการนับลูกประคำ กล่าวคือ เอาลูกมะแทน ๑๐๘ ลูก ร้อยเป็นพวงคล้องคอ หรือพันข้อมือไว้ เวลาเจริญพุทธานุสติกัมมัฏฐานจะด้วยการนั่ง การนอน หรือจะยืน จะเดินก็ดี เมื่อบริกรรมว่า พุทโธ ๆ จะต้องนับลูกมะแทนไปด้วยทีละลูก คือนับ พุทโธ ๑๐๘ เท่าลูกมะแทน เมื่อถึงบทธัมโมและสังโฆ ก็ต้องนับเช่นเดียวกัน หากนับพลั้งเผลอ แสดงว่าจิตใจไม่สงบ ต้องย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ที่พุทโธ ๑ อีก เป็นการฝึกที่ดูเผิน ๆ น่าจะง่าย แต่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจัง จะเห็นว่าไม่ง่ายดั่งใจนึก เพราะต้องบริกรรมอยู่ตลอดเวลาด้วยจิตที่เป็นสมาธิ เว้นไว้แต่เวลาที่นอนหลับ และเวลาที่ฉันจังหันเท่านั้น

 

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น เป็นระยะเวลาที่พระอาจารย์ฝั้นได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ปวารณาตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สาเหตุที่พบกันมีอยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าว พระอาจารย์มั่น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ได้เที่ยวธุดงค์ไปพักที่วัดป่าภูไทสามัคคี บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ ได้พากันไปนมัสการ และขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วย มีท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น

 

พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน

พระอาจารย์มั่น ได้แสดงพระธรรมเทศนาเบื้องต้นในเรื่องการให้ทาน รักษาศีล และการบำเพ็ญภาวนา ตามขั้นภูมิของผู้ฟัง ว่าการให้ทานและการรักษาศีลภาวนานั้น ถ้าจะให้เกิดผลานิสงส์มากจะต้องละจากความคิดเห็นที่ผิดให้เป็นถูกเสียก่อน ท่านยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวชาวบ้านมากที่สุดขึ้นอ้างว่า ชาวบ้านม่วงไข่นั้นส่วนใหญ่นับถือภูตผีปีศาจ ตลอดจนเทวดาและนางไม้เป็นสรณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลวไหล ไร้เหตุผล ท่านได้แสดงข้อเท็จจริงขึ้นหักล้างหลายประการ และได้แสดงพระธรรมเทศนาอันลึกซึ้ง จนกระทั่งชาวบ้านเห็นจริง ละจากมิจฉาทิฏฐิ เลิกนับถือภูตผีปีศาจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โยมผู้หนึ่งคือ อาชญาขุนพิจารณ์ (บุญมาก) สุวรรณรงค์ ผู้ช่วยสมุหบัญชี อำเภอพรรณานิคม ซึ่งเป็นบุตรชายของพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคม คนที่ ๔ และเป็นนายอำเภอพรรณานิคมคนแรกในสมัยรัชกาลที่ห้า ได้กราบเรียนถามพระอาจารย์มั่นว่า เหตุใดการให้ทานหรือการรับศีลจึงต้องตั้ง นโม ก่อนทุกครั้ง จะกล่าวคำถวายทานและรับศีลเลยทีเดียวไม่ได้หรือ พระอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมเรื่องนโมอย่างลึกซึ้งให้ฟัง

 

"เหตุใดหนอ นักปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดีจึงต้องตั้ง นโมก่อนจะทิ้ง นโมไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโมก็ต้องเป็น สิ่งสำคัญ จะยกขึ้นพิจารณา ได้ความปรากฏว่า คือธาตุน้ำโมคือธาตุดินพร้อมกับบทพระคาถาขึ้นมาว่า

มาตาเปตฺติกสมฺภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย

สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมา เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้วก็ได้รับข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นเครื่องเลี้ยงจึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้

"น"เป็นธาตุ ของมารดา โมเป็นธาตุของบิดา ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า "กลละ"คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ปฏิสนธิในธาตุ "นโม"นั้น

เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว "กลละ"ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น "อัมพุชะ"คือ เป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น "ฆนะ"คือ แท่งและ เปสีคือ ชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็น ปัญจสาขาคือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑

ส่วนธาตุ "พ"คือ ลม"ธ"คือ ไฟนั้น เป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจาก กลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละ ก็ต้องทิ้งเปล่า หรือ สูญเปล่า ลม และไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโมเป็นดั้งเดิม

ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย "น"มารดา"โม" บิดาเป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา ด้วยการให้ข้าวสุก และขนมกุมมาสเป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง

ท่านจึงเรียกมารดาบิดา ว่า "ปุพพาจารย์"เป็นผู้สอนก่อนใคร ๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ท่านทำให้กล่าวคือ รูปกายนี้แลเป็นมรดกดั้งเดิม ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นภายนอก ก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย

เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น "มูลมรดก" ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณของท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่

เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อน แล้วจึงทำกิริยา น้อมไหว้ลงภายหลัง นโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปล ต้นกิริยาไม่

มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุนทำการฝึกหัดปฏิบัติตน ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

นโม เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้นยังไม่สมประกอบ หรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะ จากตัว "น"มาใส่ตัว "ม"เอา สระโอจากตัว "ม"มาใส่ตัว "น"แล้วกลับตัวมะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโนแปลว่าใจเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ทั้งกายทั้งใจ เต็มตามสมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้

มโนคือ ใจนี้เป็นดั้งเดิมเป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมดได้ในพระพุทธพจน์ว่า

มโนปุพฺพงฺ คมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโมยา

ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ

พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจ คือ มหาฐานนี้ทั้งสิ้น

เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก นโมแจ่มแจ้งแล้ว มโนก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น

สมบัติทั้งหลาย ในโลกนี้ต้องออกไปจากนโมทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมบัติ บัญญัติตามกระแสแห่งน้ำ โอฆะ จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลงถือว่าตัวเป็นเราเป็นของเราไปหมด"

 

เมื่อแสดงจบ ญาติโยมน้อยใหญ่ต่างเชื่อถือและเลื่อมใสเป็นอันมาก พากันสมาทานรับเอาพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ส่วนท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบลง ก็บังเกิดความปีติยินดีและเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ทุกท่านเกิดกำลังใจมุมานะอยากบังเกิดความรอบรู้เหมือนพระอาจารย์มั่น จึงปรึกษาหารือกันว่า พระอาจารย์มั่น ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือในชั้นสูง คือเรียนสนธิ เรียนมูลกัจจายน์ ประถมกัปป์ ประถมมูล จนกระทั่งสำเร็จมาจากเมืองอุบล จึงแสดงพระธรรมเทศนาได้ลึกซึ้งและแคล่วคล่องไม่ติดขัด ประดุจสายน้ำไหล พวกเราน่าจะต้องตามรอยท่าน โดยไปร่ำเรียนจากอุบลฯ ให้สำเร็จเสียก่อน จึงจะแปลอรรถธรรมได้เหมือนท่าน เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ได้พากันปวารณาตัวขอเป็นศิษย์ต่อพระอาจารย์มั่น รับเอาข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด กับได้ขอติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์มั่นไปด้วย แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านคอยไม่ได้ เพราะทั้งสามท่านยังไม่พร้อมในเรื่องบริขารสำหรับธุดงค์ จึงออกเดินทางไปก่อน พระอาจารย์ทั้งสามต่างได้รีบจัดเตรียมบริขารสำหรับธุดงค์อย่างรีบด่วน เมื่อพร้อมแล้ว จึงออกติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปทั้งสามท่าน

เหตุที่พระอาจารย์มั่นออกเดินทางไปโดยไม่คอยในครั้งนั้น ได้มีการสันนิษฐานในภายหลังว่า พระอาจารย์มั่นเห็นว่า พระอาจารย์ทั้งสามตัดสินใจอย่างกะทันหันเกินไป ท่านต้องการจะให้ตรึกตรองอย่างรอบคอบสักระยะเวลาหนึ่งก่อน แต่พระอาจารย์ทั้งสาม ได้บังเกิดศรัทธาอย่างแก่กล้าในตัวพระอาจารย์มั่นโดยไม่อาจถอนตัวได้เสียแล้ว จึงไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจดังกล่าว

 

 

อาญาครูดี

 

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล

ในระหว่างนั้น พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล (พระรัตนากรวิสุทธิ์ ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดสุรินทร์) ได้เที่ยวตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยเหมือนกัน โดยเดินธุดงค์เลียบฝั่งแม่น้ำโขงมาจนถึงบ้านม่วงไข่ แล้วจึงได้ไปพักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย เมื่อท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปพบพระอาจารย์ดูลย์ที่วัดนั้น จึงได้ศึกษาธรรมเบื้องต้นกับท่านอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเนื่องจากต่างก็มีความประสงค์จะตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้นพระอาจารย์ทั้ง ๔ จึงได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตาม โดยพระอาจารย์ดูลย์รับหน้าที่เป็นผู้นำทาง

เมื่อธุดงค์ติดตามไปถึงตำบลบ้านคำบก อำเภอหนองสูง (ปัจจุบัน อำเภอคำชะอี) จังหวัดนครพนม จึงทราบว่า พระอาจารย์มั่นอยู่ที่บ้านห้วยทราย และกำลังเดินธุดงค์ต่อไปยังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ทั้งสี่จึงรีบติดตามไปอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งไปทันพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน

 

บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน

พระอาจารย์ทั้งสี่ได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ ที่บ้านหนองดินดำแล้วไปหาพระอาจารย์สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ๆ

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้น กับสามเณรพรหม สุวรรณรงค์ ผู้มีศักดิ์เป็นหลาน ได้เดินธุดงค์ไปอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และได้ไปภาวนาอยู่ที่ถ้ำพระบท ก่อนเดินทางไปยังถ้ำพระบทแห่งนี้ ได้มีผู้เล่าให้ท่านฟังว่าที่ถ้ำนั้นผีดุมาก โดยเฉพาะที่ปากถ้ามีต้นตะเคียนสูงใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง มีเถาวัลย์ห้อยระโยงระยางอยู่เกะกะ และมืดครึ้มน่ากลัวยิ่ง ผู้ไม่กลัวผี เมื่อไปภาวนาอยู่ในถ้ำดังกล่าว ต่างก็เคยถูกผีหลอกมาแล้วมากต่อมาก เช่นมาหว่านดินรบกวนบ้าง หรือบางทีก็เขย่าต้นไม้ให้ดังเกรียวกราวบ้าง เป็นต้น

พระอาจารย์ฝั้น ได้ฟังคำบอกเล่าดังนั้น จึงได้กล่าวว่า เกิดมายังไม่เคยเห็นผี หรือถูกผีหลอกเลยสักครั้ง เพียงแต่มีคนเล่ากันต่อ ๆ มาว่ามีผี ทั้งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยว่าผีหักคอคนไปกินทั้งดิบ ๆ ถ้าเป็นเสือสางหรือสัตว์อื่น ๆ ที่ดุร้ายละก็ไม่แน่ จากนั้นก็พาสามเณรพรหมเดินทางต่อไปจนกระทั่งถึงถ้ำพระบทเมื่อเวลา ๕ โมงเย็นเศษ ๆ

เมื่อช่วยกันทำความสะอาดตามบริเวณปากทางถ้ำและในถ้ำแล้ว ได้พากันไปอาบน้ำที่อ่างหินใกล้ ๆ แล้วกลับมากางกลด กับเตรียมน้ำร้อนน้ำฉัน เสร็จแล้วก็ออกเดินจงกรม โดยพระอาจารย์ฝั้นเดินจงกรมอยู่ทางทิศตะวันออกของกลด ส่วนสามเณรพรหม เดินทางทิศตะวันออก ต่างเดินจงกรมด้วยจิตใจอันสงบและมั่นคง ไม่ปรากฏสิ่งผิดปกติใด ๆ มาแผ้วพานตลอดทั้งคืน

ต่อมาในคืนที่ ๒ ได้มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างภาวนาอยู่ในกลด สมดังที่มีผู้เล่าไว้ กล่าวคือ ได้ยินเสียงต้นไม้เขย่าดังเกรียวกราวอยู่เป็นระยะ ๆ เมื่อได้ยินครั้งแรก พระอาจารย์ฝั้นกับสามเณรพรหมต่างก็ขนลุกซู่ด้วยความตกใจ แต่ก็เร่งภาวนาอย่างเต็มที่เพื่อวางใจให้สงบ ในที่สุดขนที่ลุกซู่ก็เหือดหาย จิตใจก็เป็นปกติและเกิดความกล้าหาญขึ้น พระอาจารย์ฝั้นกับสามเณรพรหมจึงได้ออกจากกลดมาพิสูจน์ว่าเสียงต้นไม้ที่ดังเกรียวกราวเกิดจากอะไรแน่ คืนนั้นเป็นคืนเดือนหงาย จึงได้เห็นบ่างขนาดใหญ่ ๓ ตัว ตัวโตเท่าแมว บินฉวัดเฉวียนอยู่บริเวณต้นตะเคียนใหญ่ บางทีก็กระพือขึ้นไปตามเถาวัลย์ แล้วเขย่ากิ่งตะเคียนเล่น สะเก็ดจากกิ่งและใบที่แห้งร่วงหล่นลงมานั้นเหมือนผีมาเขย่าต้นไม้ไม่มีผิด

ในคืนต่อมา เสียงเขย่าต้นไม้ก็ยังปรากฏอยู่ทุกคืน แต่พระอาจารย์ฝั้นกับสามเณรพรหม ได้ประจักษ์ความจริงเสียแล้ว จึงมิได้สนใจอีกต่อไป

ระหว่างบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ถ้ำพระบทนั้น การบิณฑบาต ก็ได้อาศัยเพียงตายายชาวไร่สองคนผัวเมียไม่มีลูก ซึ่งไปปลูกบ้านอยู่กลางดง ห่างถ้ำประมาณ ๑๐๐ เส้น ทั้งคู่ประกอบอาชีพในการทำไร่ข้าวและปลูกพริกปลูกฝ้าย เมื่อบิณฑบาตแต่ละครั้งได้ข้าววันละปั้นและพริกกับเกลือเท่านั้น ตกเย็นท่านก็ฉันยาดองด้วยน้ำมูตร กล่าวคือลูกสมอมาดองกับน้ำมูตรของท่านเองในกระบอกไม่ไผ่แล้วเผาไฟให้สุก

เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว พระอาจารย์ฝั้นจึงได้พาสามเณรพรหมออกเที่ยวธุดงค์ต่อไป โดยตั้งใจว่าจะไปให้ถึงภูเขาควายในประเทศลาว แต่ในที่สุดเมื่อข้ามโขงไปแล้วก็เปลี่ยนใจ เพราะจากการสอบถามทางไปภูเขาควายกับพระภิกษุบางรูป และชาวบ้าน ได้รับคำบอกเล่าว่า ขณะนี้ฝรั่งเศสเข้มงวดกวดขันการเข้าประเทศมาก ท่านตรองดูแล้วเห็นว่า หนังสือเดินทางก็ไม่มี ใบสุทธิก็มิได้ติดตัวมาด้วย หากเกิดเรื่องขึ้นจะลำบาก ญาติโยมที่จะช่วยเหลือก็ไม่มี เพราะต่างบ้านต่างเมือง อีกประการหนึ่ง เมื่อภาวนาออกนอกลู่นอกทาง ก็ไม่มีผู้ใดจะปรึกษาแก้ไข เพราะห่างไกลครูบาอาจารย์ จึงตกลงเดินทางกลับ แต่มิได้กลับตามเส้นทางเดิม คราวนี้เดินเลียบฝั่งโขงขึ้นไปทางเหนือน้ำ โดยเดินไปตามทางเดินแคบ ๆ สองข้างทางเป็นป่าทึบ ทางเดินที่ปรากฏรอยตะกุยของเสืออยู่บ่อย ๆ ทั้งเก่าทั้งใหม่คละกันไปเรื่อย ยิ่งตอนที่ตะวันลับไม้ จะได้ยินเสียงเสือคำรามร้องก้องไปทั้งหน้าหลัง แม้จะภาวนาอยู่ตลอดทาง แต่จิตใจก็อดหวั่นไหวไม่ได้ จนบางครั้งถึงกับภาวนาผิด ๆ ถูก ๆ เพราะไม่แน่ใจเอาเสียเลย ว่ามันจะโจนเข้าตะครุบเอาเมื่อไหร่

เพื่อให้กำลังใจกล้าแข็งขึ้น พระอาจารย์ฝั้นได้อุทานภาษิตอีสานขึ้นมาบทหนึ่ง ซึ่งท่านเคยพูดถึงบ่อย ๆ เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาสว่า

“เสือกินโค กินควาย เพิ่นช้าใกล้ สื่อกินอ้าย เพิ่นช้าไกล”

ภาษิตบทนี้ ท่านอธิบายให้ศิษย์ฟังในระยะหลังว่า ถ้าเสือกินโคหรือกินควาย เสียงร่ำลือจะไม่ไปไกลเพราะเป็นเรื่องธรรมดา คงร่ำลือเฉพาะในหมู่บ้านนั้น ๆ แต่ถ้าหากเสือกินคนหรือกินพระกัมมัฏฐานแล้ว ผู้คนจะร่ำลือไปไกลมากทีเดียว

ภาษิตที่ท่านอุทานขึ้นมาบทนั้น ยังผลให้ท่านข่มความกลัวในจิตใจได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็บังเกิดความกล้า พร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ทุกวิถีทาง พระกัมมัฏฐานกลัวสัตว์ป่าก็ไม่ใช่พระกัมมัฏฐาน

นอกจากภาษิตข้างต้น ท่านยังกล่าวต่อไปอีกว่า

ภาษิตบทนี้มีความหมายว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดนั้น มันฝังแน่นอยู่ในสันดานของมนุษย์ เช่นเดียวกับจระเข้ที่กบดานแน่นิ่งอยู่ใต้น้ำ นาน ๆ จึงจะโผล่หัวขึ้นมานอนอ้าปากตามชายฝั่ง พอแมลงวันเข้าไปไข่ มันจะคลานลงน้ำแล้วอ้าปากตรงผิวน้ำ เพื่อให้ไข่แมลงวันไหลออกไปเป็นเหยื่อปลา และเมื่อใดที่ปลาใหญ่ปลาเล็ก หลงเข้าไปกินไข่แมลงวันในปากของมัน มันก็จะงับปลากลืนกินไปทันที ส่วนกระท้างนั้นก็เช่นเดียวกับกระรอก ซึ่งหัวหางกระดุกกระดิกอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น หากกำคอจระเข้และคอกระท้างไว้ให้มั่น ไม่ปล่อยให้จระเข้มันฟาดหาง และไม่ยอมให้กระท้างกระดุกกระดิกได้ จิตใจก็จะสงบเป็นปกติ ไม่กลัวเกรงต่อภยันตราย ถึงเสือจะคาบไปกินก็ไม่กระวนกระวายเป็นทุกข์

ท่านกล่าวกับสามเณรพรหมในตอนนั้นอีกด้วยว่า เมื่อเรามีสติ กำหนดรู้เท่าทันมันดีแล้ว

“การตายนั้นถึงตายคว่ำก็ไม่หน่าย จะตายหงายหน้าก็ไม่จ่ม”

กล่าวคือไม่ว่าจะตายด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม สุคติเป็นหวังได้เสมอไป ดังนี้

หลังจากข่มสติให้หายกลัวเสือได้สำเร็จ การเที่ยวธุดงค์ก็เต็มไปด้วยความปลอดโปร่ง และต่อมาไม่นานนัก พระอาจารย์ฝั้นกับสามเณรพรหมก็บรรลุถึงท่าน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเรือรับส่งข้ามฟากกันอยู่เป็นประจำ จึงเรียกเรือมารับแล้วข้ามกลับมาฝั่งไทย

พอขึ้นฝั่งพักผ่อนได้ชั่วครู่ พระอาจารย์ฝั้นก็พาสามเณรพรหม เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่นที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เมื่อนมัสการพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยแล้ว

ทั้ง ๆ ที่พระอาจารย์ฝั้น ยังไม่ได้กราบเรียนให้พระอาจารย์มั่นทราบถึงเรื่องราวที่ได้ประสบมา แต่พระอาจารย์มั่นก็สามารถหยั่งรู้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เพราะจากการสนทนาตอนหนึ่ง พระอาจารย์มั่นได้กล่าวขึ้นมาลอย ๆ ว่า

“ท่านฝั้น เณรพรหม ได้ผี ได้เสือเป็นอาจารย์น่ะดีแล้ว ผีกับเสือสอนให้รู้วิธีตั้งสมาธิให้มั่นคง สอนให้กำหนดจิตใจให้สงบ รู้เท่าความกลัว ว่าอะไรมันกลัวผี กลัวเสือ ถ้าจิตใจกลัว เสือมันกินจิตใจคนได้เมื่อไหร่ มันกินร่างของคนต่างหาก นี่แหละเขาจึงพูดกันว่า ผู้ไม่กลัวตาย ไม่ตาย ผู้กลัวตายต้องตายกลายเป็นอาหารสัตว์ ที่ท่านฝั้นใช้ภาษิตต่าง ๆ เป็นอุบายอันแยบคาย เตือนจิตใจให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ ขณะได้ยินเสียงเสือนั้นชอบแล้ว”

ต่อจากนั้นพระอาจารย์มั่นได้ถามพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า จะไปเรียน “หนังสือใหญ่”คือเรียนประถมกัปป์ ประถมมูล กับมูลกัจจายน์ ตามที่ได้ตั้งใจไว้จริง ๆ หรือ พระอาจารย์ฝั้นตอบว่า มีเจตนาไว้เช่นนั้นจริง พระอาจารย์มั่นเห็นความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของพระอาจารย์ฝั้นจึงบอกว่า ท่านฝั้น ไม่ต้องไปเรียนถึงเมืองอุบลหรอก อยู่กับผมที่นี่ก็แล้วกัน ผมจะสอนให้จนหมดไส้หมดพุงเลยทีเดียว หากยังไม่จุใจค่อยไปเรียนต่อทีหลัง ส่วนเณรพรหม เธอจะไปเรียนที่เมืองอุบลก็ได้ ตามใจสมัคร

สามเณรพรหมจึงได้แยกกันกับพระอาจารย์ฝั้น ตอนนั้นเป็นปลายปีพุทธศักราช ๒๔๖๔

สามเณรพรหมลงไปเมืองอุบล กับพระอาจารย์สิงห์ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นอยู่เรียน “หนังสือใหญ่”กับพระอาจารย์มั่น บางครั้งได้ออกบำเพ็ญภาวนาโดยลำพัง เมื่อขัดข้องสงสัยในข้ออรรถข้อธรรมอันใดก็กลับเข้ามาเรียนถามพระอาจารย์มั่น

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้ออกเที่ยวธุดงค์ไปทางอำเภอวาริชภูมิ ขณะไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองแสง เกิดอาพาธเป็นไข้หวัด เป็นอุปสรรคต่อการพำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเกิดความวุ่นวายในจิตใจ ทั้งกลางวันและกลางคืน อุบายแก้ไขที่เคยกำหนดรู้ได้ก็หลงลืมหมด ไม่ผิดอะไรกับการเดินป่า พบขอนไม้ใหญ่ขวางกั้น จะข้ามไปมันก็สูงขึ้น จะลอดหรือมันก็ทรุดต่ำลงติดดิน จะไปขวาไปซ้าย ขอนไม้มันก็เคลื่อนเข้ากางกั้นไว้ทุกครั้ง เป็นเช่นนี้ถึง ๓ คืน ก็ยังเอาชนะอุปสรรคไม่สำเร็จ

 

 

 

วิดีโอ

WatpaLA-Youtube

Copyright ©2554 วัดป่าธรรมชาติ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา