E-Books

ค้นหา

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
5551145

whosonline

มี 61 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

สารบัญ

อบรมปฏิบัติกรรมฐาน

โดย.พระภาวนาญาณวิเทศ (เหรียญ ธนลาโภ)

เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมชาติ 

เมืองลา พวนเต้ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ฟังการอบรมธรรมะ โดย พระภาวนาญาณวิเทศ


 

เรื่อง..นิวรณ์ ๕

            ประนมมือขึ้น แล้วว่าตาม “ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ คุณความดีทุกประการ จงมาดลบันดาล ให้จิตของข้าพเจ้าจงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ พุทโธ พุทโธ” เอามือลง

นั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือขวาหงายทับมือซ้ายวางไว้บนตัก ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น  กำหนดลมหายใจเข้าว่า พุท หายใจออกให้นึกว่า โธ ให้นึกพุทโธ ๆ อยู่ในใจพร้อมกับหลับตา พยายามทำความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ให้เป็นปกติ แม้แต่ส่วนของร่างกายของเราทุกส่วนก็พยายามทำความรู้สึกให้เป็นปกติ อย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกร็งเกินไปหรือตึงเครียดเกินไป ร่างกายทุกส่วนนั้นมีความรู้สึกเหมือนกับเราไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้ามันตึงตรงไหนมีความรู้สึกมาตรงไหนก็พยายามผ่อนคลายในตรงนั้น บางทีการนั่งสมาธิเรามักจะตั้งความรู้สึกให้จริงจังมากจนเกินไป จนกระทั่งร่างกายมีความตึงเครียด พอความตึงเครียดเกิดขึ้น ความสำคัญมั่นหมายการไปยึดไปถือในส่วนของเราก็เกิดขึ้นสิ่งที่ตามมาก็คือ ความเจ็บปวดและความเครียด ฉะนั้น พยายาม ทำความรู้สึกให้เป็นปกติให้ได้

     ในเรื่องความคิดก็เหมือนกัน อย่าพยายามไปบังคับความคิดให้มากจนเกินไป หรืออย่าปล่อยความคิดออกไปตามสิ่งที่ต้องการจะคิดพยายามอาศัยความรู้สึกมาจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น สร้างความรสุข ความเพลิดเพลินกับที่เรามากำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกเพียงเท่านั้น กำหนดดูไป จุดประสงค์ของการทำสมาธิ ความเป็นจริงก็มีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ ทำอย่างไรให้จิตของเรานั้นสงบลงได้

จิตที่จะสงบได้นั้น ก็เพียงแต่เราเอาความคิดมาจับอยู่ที่อารมณ์ที่กำลังระลึกอยู่ อย่างเช่นเวลานี้ เราระลึกอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เราก็พยายามทำความรู้สึกนึกคิดของเราให้จับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น เราก็ทำเพียงเท่านี้ ความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวงมารวมอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก พยายามอย่าให้ความนึกคิดเหล่านั้นหลุดออกไปจากอารมณ์ที่เรากำหนดคือลมหายใจเข้าลมหายใจออก

  เมื่อจิตของเรามาจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้ติดต่อกันโดยไม่มีการขาดตอน ยิ่งอยู่นานเท่าไรจิตเราก็ยิ่งมีความสงบได้นานเท่านั้น เริ่มต้นจิตของเรากำหนดรู้ เวลาลมหายใจเข้าก็จะทำหน้าที่รู้ เวลาลมหายใจออกจิตก็ทำหน้าที่รู้ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกให้ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสาย ถ้าขาดสายเมื่อไรก็แสดงว่าจิตเรายังไม่รวม เพราะยังมีการขาดตอน เราระลึกลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ ไม่ไปนึกเรื่องอื่น ถ้านึกเรื่องอื่นอีกจิตของเราจะมีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก ความเป็นสมาธิของจิตก็จะขาดไป แต่ถ้าเราพยายามกำหนดรู้อยู่ตรงนั้นแหละ เวลาลมหายใจเข้า เราก็รู้ ลมหายใจออกเราก็รู้ เพื่อต้องการให้จิตของเรามั่นคงอยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกมากยิ่งขึ้น เราก็พยายามสังเกต สังเกตลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้าหายใจออกยาวหรือสั้น เราก็กำหนดรู้ เช่น เราพยายามดูลมหายใจเข้าว่าใช้เวลานานประมาณเท่าไร หายใจออกใช้เวลานานประมาณเท่าไร เราก็ทำความรู้อยู่อย่างนั้น

    ถ้าจิตของเราสนใจและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เรากำลังกำหนดรู้อยู่นี้ โดยไม่ให้จิตละไปสนใจในเรื่องอื่นหรือระลึกเรื่องอื่น นี่ก็แสดงว่าจิตเราเริ่มมีฐานะเป็นที่ตั้ง ความนึกคิดของเราก็กำลังมารวมอยู่ที่ฐาน และเมื่อรวมอยู่นาน ๆ เข้าความเป็นสมาธิก็เกิดขึ้น เพราะคำว่าสมาธิก็คือการที่จิตระลึกมั่นคงอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นเอง คือเมื่อนึกถึงสิ่งใดก็ตาม จิตนั้นจะไม่เปลี่ยนความนึกคิดออกไปสู่สิ่งอื่น จิตนั้นก็เป็นสมาธิมั่นคงอยู่กับสิ่งที่กำหนดรู้นั้น นี่คือจิตเริ่มต้นของการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ

สิ่งที่นำมาประกอบให้จิตเกิดสมาธิเร็วขึ้นมีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน คือ

        (๑) สติความระลึกได้ ทำหน้าที่ระลึก คือนึก

    (๒) สัมปชัญญะ คือรู้ตัว ตัวสตินั้นทำหน้าที่ระลึก สัมปชัญญะนั้นรู้ตัว เช่น เราระลึกลมหายใจเข้าลมหายใจออก และเราก็รู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังนั่งสมาธิอยู่ กำลังฝึกจิตอยู่ และกำลังระลึกลมหายใจเข้าออกอยู่ คือทั้งสติและสัมปชัญญะนั้นจะทำหน้าที่ต่อเนื่องกัน ระลึก แล้วก็รู้ตัว ๒ อย่างนี้ควบคู่กันไป

       (๓) อาตาปี ความเพียรพยายาม การที่สติและสัมปชัญญะจะมีความเข้มข้น มีปริมาณมากขึ้น ต้องอาศัยความเพียรพยายามคืออาตาปี เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ถ้าเรามีความเพียรพยายาม มีความตั้งใจสูง สติและสัมปชัญญะก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นได้ทั้ง ๒ อย่าง ตั้งใจกำหนดนึกรู้อยู่เฉพาะลมหายใจเข้าลมหายใจออกเท่านั้น พยายามไม่ให้จิตของเรานั้นระลึกไปในสิ่งอื่น ให้จับอยู่ที่ตรงนั้น

     สติ สัมปชัญญะ และอาตาปี เป็นเครื่องเกื้อหนุน อุดหนุน และสนับสนุนให้จิตเป็นสมาธิยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราขาดธรรมะข้อใดข้อหนึ่งเข้ามาสนับสนุนแล้ว จิตของเราก็จะมีสมาธิได้ช้าหรืออาจจะไม่มีสมาธิเลยถ้าเราไม่พยายามระลึก เวลาเรานั่งเราก็นั่งไปเฉย ๆ บางครั้งเราก็นั่งเผอเรอพอเผลอไปเดี๋ยวเดียวเราหลับก็มี บางทีนั่งเฉยอยู่เผลอไปเดี๋ยวเดียวจิตมันคิดไปไหนก็ไม่รู้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร เพราะเราขาดอาตาปีคือความพากเพียรพยายามนั้นเอง ฉะนั้น ทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิ เราต้องอาศัยคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้มาเป็นเครื่องสนับสนุน คือ ต้องมีสติ ความระลึก สัมปชัญญะ ความรู้ตัว และ อาตาปี ความเพียรพยายาม สนับสนุนไปการประพฤติปฏิบัติสมาธิภาวนาก็จะเจริญยิ่งขึ้น แต่ที่เราไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะเราไม่พยายามเอาคุณธรรมดังกล่าวแล้วมาเป็นเครื่องสนับสนุนเวลานั่งเราก็ปล่อยให้นั่งไปตามธรรมดา ความเพียรความพยายามในการที่จะกระตุ้นให้จิตของเรานั้นมีความระลึกมีความรู้ตัวอยู่ไม่ค่อยมี อาตาปี นี้เป็นคุณธรรมที่สำคัญให้จิตของเราเป็นสมาธิยิ่งขึ้น

    คราวนี้มาพูดถึงขั้นตอนต่อไป คือขั้นตอนตรงที่เมื่อจิตเราเป็นสมาธิ ก่อนที่จิตจะเป็นสมาธินั้น เราควรจะกำจัดอะไรออกไป และอะไรที่เป็นอุปสรรคไม่ให้จิตของเราเกิดสมาธิได้ หลักที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทรงแสดงไว้คือ นิวรณ์ ๕ เป็นเครื่องปิดกั้นจิตไม่ให้เกิดความสงบได้ นิวรณ์ทั้งห้านี้เป็นตัวมาทำให้จิตของเรากระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา นิวรณ์ ๕ ได้แก่

     ๑. กามฉันทะ คือ จิตที่มีความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจในกามคุณ กามคุณนั้นหมายถึง พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เราดูสภาวะจิตของเรา ถ้าหากจิตมีความพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา จิตนั้นจะอยู่เป็นปกติไม่ได้ จะมีแต่การดิ้นรน กระสับกระส่ายและหวั่นไหว จิตพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสก็ดี ความเป็นปกติของจิตนั้นก็จะเสียไป เพราะความพอใจเกิดขึ้น มันก็จะดิ้นรนหา

   เราสังเกตดูก็ได้ ถ้าเราพอใจในรูปอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นผู้หญิงผู้ชายหรือรูปอะไรที่เห็นด้วยตา ถ้าพอใจแล้ว จิตก็เกิดความอยาก ความต้องการ ถ้ามีความอยาก ความต้องการ จิตก็ดิ้นรนเพื่อจะหามาสนองความอยาก ความต้องการนั้น ในการดิ้นรนนี้ มันเป็นเหตุทำให้จิตนั้นวิ่งออกจากฐานของความเป็นปกติ แม้ในเรื่องเสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็เช่นเดียวกัน เหล่านี้เป็นเครื่องทำให้จิตนั้นวิ่งเข้าไปหา และการวิ่งเข้าไปหานี้ มันก็ไม่เป็นปกติแล้ว มันวิ่งอยู่ตลอดเวลา ถ้าเกิดหามาได้ จิตก็จะไม่สงบ เพราะจิตมันเกิดความหวาดระแวง เกิดความกลัวขึ้นมา คือกลัวว่าสิ่งที่ได้มานั้นมันจะหายไป จะหลุดไปหรือสูญเสียไปนี้เป็นเหตุทำให้จิตของเราผิดปกติไป และถ้าเผื่อว่าสิ่งที่เราได้มานั้นหลุดไป ก็ยิ่งทำให้จิตนั้นผิดปกติมากยิ่งขึ้น นี่เราก็พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทำให้จิตเราขาดความเป็นปกติ จิตของเราจึงเข้าสู่ความสงบไม่ได้

    ดูชาวโลกที่เราเห็นกันอยู่ ต้องดิ้นรนและแสวงหา ไม่มีความสุข ความสงบเท่าไร สังเกตดูหามาก็เพื่อสนองความอยากที่เกิดขึ้นในจิต แต่เรามองทั่ว ๆ ไป เหมือนกับไม่ใช่เป็นความอยาก เหมือนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาเพื่อสนองความอยากความต้องการอีกด้วย มันจึงทำให้จิตของเรานี้ไม่มีความเป็นปกติ มันถึงได้ดิ้นรนไป ดิ้นรนจนกระทั่งจิตนี้เกิดความเคยชิน จนเวลาเรามาฝึกหัดให้จิตเราสงบอย่างนี้ มันก็ยังดิ้นรนเพื่อที่จะออกไปหาสิ่งที่มันเคยชินอยู่นั้น อย่างพวกเราที่เข้ามาสู่การปฏิบัติอย่างนี้ เราจะสังเกตดูได้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งดังกล่าวมานี้พวกเราก็ค่อยลดค่อยละกันแล้ว ความพอใจในกลิ่น รส สัมผัส เราก็ได้ลดละมามากแล้ว แต่จิตนี้มันก็ไม่วายที่จะดิ้นรนออกไปแสวงหา

    ดูภายในจิตที่ลึก ๆ ในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรส เรายังติดอยู่ ทำให้จิตเราต้องวุ่นวายต้องแสวงหา อย่างรสอาหาร ความเป็นจริงและความต้องการของร่างกาย ก็ไม่ต้องการความอร่อยที่ไหนมารับประทาน เราต้องการเพียงให้ร่างกายอยู่ได้เท่านั้น แต่ที่เราปรุงแต่งรสต่าง ๆ นั้น ก็เพื่อมาสนองความอยากของใจเท่านั้นเอง ที่จริงก็คือสนองลิ้น ไม่ได้สนองร่างกายทั้งหมด ฉะนั้น จิตของเราก็ไม่มีความสงบ ได้แต่คิดอยู่ว่าเราจะทำอย่างไร คือ จิตจะดิ้นรนอยู่อย่างนั้น เราต้องเสียเวลา ปล่อยให้จิตดิ้นรนไปวันหนึ่ง ๆ เสียเวลาไปมิใช่น้อยตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาจนถึงเย็น เราเสียเวลากับวัตถุเหล่านี้มาก ยิ่งชาวบ้านด้วยแล้วจิตไม่มีโอกาสเป็นอิสระเลย เราจะสังเกตดูเรื่องรูป บ้างก็แสวงหามา พยายามหาเสียงดี ๆ ต้องซื้อ ต้องลงทุน ดิ้นรนหามาสนอง กลิ่น ก็ดูซิ ประดับประดาตบแต่ง ลงทุนซื้อเครื่องสำอางต่าง ๆ ในส่วนร่างกายก็หามาเพื่อตกแต่งประดับประดาอะไรต่าง ๆ เรามาดูชาวโลกเขา เขาทุ่มเทชีวิตจิตใจที่เขาทำกันอยู่นั้น ถ้ามาบวกลบคูณหารแล้ว ส่วนมากก็เสียไปในเรื่องกามคุณเกือบ ๖๐-๗๐ % ของรายได้ ที่จะให้ร่างกายจริง ๆ ก็เพียง ๔๐-๓๐ % เท่านั้น เมื่อเป็นอย่างนี้จิตเราก็สงบไม่ได้ ต้องดิ้นรนต้องแสวงหามา ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จิตยังไปเกิดความกำหนัดยินดีจนกระทั่งมีความทุรนทุราย จึงยิ่งหนักยิ่งเพิ่มปริมาณเข้าไปอีก ในสภาพจิตที่สงบไม่ได้เพราะต้องดิ้นรนหา นี่แหละคือตัวที่มาทำให้จิตของเรากระเพื่อม เพราะฉะนั้นจึงว่า กามฉันทะ ความพอใจในกาม กามคุณทั้งห้า ในรูปรส เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหตุทำให้จิตเรานั้นขาดความปกติ ทำให้จิตหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องวิ่งไปเพื่อที่จะนำมาสนองความอยาก ความต้องการและความใคร่ หาได้ก็ไม่สงบอีก ไม่มีความสงบเลย ถ้าตราบใดสิ่งนี้ยังมีอยู่ในจิตของเรา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราไม่สามารถที่จะกำจัดมันออกจากจิตเราได้จิตจะสงบไม่ได้

     ๒. พยาบาท เราลองดูจิตที่มีความพยาบาท มีการจองเวรอาฆาตเคียดแค้นชิงชัง จิตที่สงบไม่ได้ จิตที่เป็นปกติไม่ได้

จิตของเราถ้าหากว่าเรานึกคิดต่อบุคคลใดแล้วเกิดความไม่พอใจขึ้นมา จิตนั้นจะเผลอไม่ได้ต้องครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา คือจะต้องนึกโกรธนึกไม่พอใจ อาฆาตเคียดแค้นชิงชัง จิตชนิดนี้ เราจะสังเกตดูว่า มักจะมีความรู้สึกขุ่นและเร้าร้อนอยู่ภายในตลอดเวลา ซึ่งพวกเราก็มีกันทั้งนั้น เมื่อมีความไม่พอใจขึ้นมา จิตก็จะคิดผูกโกรธพยาบาทจองเวร คือผูกเอาไว้ในใจนั้น คลายไม่ได้ ความไม่พอใจที่ผูกไว้ในจิตของเรา คือจิตที่ปรารภบุคคลอื่นที่เขามาทำให้เราไม่พอใจ

     อย่างเราไม่พอใจใคร จิตจะทำหน้าที่เข้ามาผูกเอาไว้ คือนึกไม่พอใจอยู่อย่างนั้น สลัดออกไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ มันมัดอยู่อย่างนั้น เคยสังเกตดู จิตชนิดนี้จะเริ่มต้นจากความไม่พอใจไม่สบอารมณ์ และส่วนมากมักจะเกิดขึ้นที่เห็นชัดๆ จากตาที่เห็นรูปและหูที่ได้ยินเสียง ส่วนกลิ่น รส สัมผัสนั้น มันมีแต่ละเอียดลงไป มองไม่เห็นชัด คนที่จะโกรธกับรสอาหารหรือโกรธกับสัมผัส ก็มีเหมือนแต่ไม่ค่อยรุนแรง ซึ่งถ้าเราไม่พอใจกับกลิ่น ก็เพียงแต่ไม่พอใจ แต่ก็ไม่ผูกเอาไว้ ถ้าไม่พอใจกับกลิ่น คือต้องไม่พอใจกับคนที่มาทำให้เกิดกลิ่น หรือกับรส ก็ไม่พอใจกับคนที่มาปรุงรส และที่ไม่พอใจกับสัมผัส ก็คือไม่พอใจกับสิ่งที่มาสัมผัส ความไม่พอใจจะเกิดขึ้นที่เด่นชัดก็คือ เวลาเราเห็นกับได้ยิน

     ในสิ่งที่เราเห็นหรือได้ยินนั้น มักจะเกี่ยวข้องกับคนไม่ใช่กับสิ่งอื่น ถ้าไม่เห็นสิ่งที่ทำให้เราถูกใจ ความผูกโกรธก็จะหายไป เช่น สุนัขมันมารบกวนเรา บางทีเราไม่พอใจ เราขว้างให้ มันวิ่งหนีไป เราก็เสร็จเรื่อง หรือทำจานตกแตก เราไม่พอใจตีแมว พอมันวิ่งหายไปก็จบลง ไม่มีใจผูกโกรธเอาไว้ ได้ยินเสียงสุนัขมันเห่าหนวกหู หรืออะไรที่มาทำให้หนวกหูรำคาญ ทำให้เราไม่พอใจ แต่พอเสียงหายไป ความไม่พอใจนั้นก็หายไปด้วยไม่ผูกเอาไว้ แต่จิตของเราที่จะผูกโกรธนั้น เกิดกับคนด้วยกัน สมมติใครทำอะไรให้เราไม่พอใจ พอเราเห็นเราก็โมโห เราก็แว้ดขึ้นมา ก็เริ่มผูกเอาไว้แล้ว ไม่ยอมปล่อยไป หรือได้ยินเสียงพูดมาเราจำได้ก็มีความรู้สึกที่ไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจก็กดเอาไว้ ข่มเอาไว้ พอครั้งที่ ๒ ๓ กดมากเข้าๆ จนถึงที่สุด เมื่อทนไม่ไหวแล้วจึงระเบิดตูมออกมา บางทีระเบิดออกมาทั้งการกระทำทางกาย อาจแสดงออกมีการทุบตี บางทีมีการฆ่า หรือมิฉะนั้นก็ออกมาทางวาจา มีการพูดประชดประชัน มีการด่าทะเลาะกัน ในสภาพจิตของเราที่ถ้าพยายามให้ความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้ว มันก็จะเกิดความพยาบาท

     สังเกตดูลักษณะความไม่พอใจ ถ้ามีความโกรธพุ่งขึ้นมาและถ้าไม่มีความพยาบาทผูกโกรธเอาไว้ จิตที่ไม่สบายไม่พอใจก็จะหายไป ที่เห็นได้เช่นสมมติลูกของเราทำให้เราไม่พอใจ เราโกรธลูก ตีลูกพอหลังจากนั้นแล้วความโกรธหายไป เปลี่ยนเป็นเมตตาจิต สงสารลูก ที่เคยตีลูกเพราะโมโห ตีก็ด้วยอำนาจของความโกรธ พอตีเสร็จแล้ว ความโกรธดับ จิตก็เป็นปกติ นึกสงสารลูก สภาพจิตนี้ไม่ใช่เป็นจิตพยาบาท โกรธก็จริงอยู่แต่ไม่เป็นจิตพยาบาท คือ ไม่ผูกโกรธหรือจองเวร จิตที่ไม่ผูกโกรธนั้น หลังจากโกรธแล้ว ก็เป็นปกติ

     แต่จิตที่มีนิวรณ์นั้น เป็นจิตพยาบาทจองเวรและผูกโกรธเอาไว้ จิตของเราเวลาเราผูกโกรธกับใครนั้น มันจะอยู่อย่างนั้นแหละ แม้เราไม่เห็นเราไม่ได้ยิน จริงอยู่บางทีจนเราลืม บางครั้งลืมไปนึกไม่ออก แต่พอพบหน้าเท่านั้น นึกขึ้นมาได้ ทั้งเราทั้งเขาไม่มีอะไรหรอก แต่พอบุคคลนั้นทำอะไรที่ไม่ถูกใจเราขึ้นมาเท่านั้นเอง เป็นการไปเขี่ย คือเหมือนเอาอะไรทับเอาไว้ พอคนนั้นทำไม่ถูกใจขึ้นมาเท่านั้น ที่เคยปิดเอาไว้ก็เปิดออกมาได้ทันที นี่คือลักษณะของจิตผูก เพราะฉะนั้น สังเกตดูเวลาเราปฏิบัติธรรม บางทีจิตเราสงบไป เมื่อมีอะไรมากระทบเท่านั้น จิตที่เคยเป็นสมาธิจะไม่เป็นสมาธิต่อไปแล้ว พอเราไปนั่งภาวนา จิตมันจะตึงตัง ๆ ขึ้น นี้เพียงแต่ว่าจิตมีความโกรธและผูกพยาบาทขึ้นมาและก็เท่านั้นแหละ ไม่ต้องหวังเลยที่จะให้จิตนั้นสงบ ลองดูก็ได้ ถ้าเรามีจิตโกรธและผูกโกรธกับใครไว้ วันนั้นเราจะนั่งภาวนาไม่สงบเลย จิตจะผูก ขุ่นมัว และเร่าร้อน เป็นวันเป็นคืนที่จิตสงบไม่ได้เลย

     ๓. ถีนมิทธะ คือความง่วงเหงาหาวนอน สะลึมสะลือ ความเป็นจริงก็คือจิตที่มันขี้เกียจขี้คร้านนั่นเอง จิตไม่มีความกระตือรือร้น คิดดูโดยส่วนมากแล้ว การที่เราจะนั่งสมาธิภาวนาได้ดีหรือไม่ได้ดีนั้นขึ้นอยู่กับนิวรณ์ตัวนี้ ถ้าหากนิวรณ์ตัวนี้มีมาก มักจะถูกอ้างเรื่อย วันนี้มันปวดบ้าง ง่วงนอนบ้าง ไม่มีเวลา มันยังไม่ถึงเวลา หากเกิดขึ้นอยู่ ทำให้คนไม่อาจทำความดีได้หรือไม่ได้ดีเท่าที่ควร เป็นเพราะนิวรณ์ตัวนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จิตของเรามันชอบจะอ้างไปสู่ความขี้เกียจขี้คร้านกันทั้งนั้นและก็มากที่สุดที่จิตอ้าง วันนี้มันร้อนนัก เย็นนัก สายนัก หนาวนัก จิตมันอ้างอยู่ตลอดเวลา นี่ความขี้เกียจขี้คร้านของจิต

   คนทั่วไปมองดูแล้วเหมือนกับว่าถีนมิทธะนี้ไม่มีพิษมีภัยอะไรกลับมองเห็นพิษภัยจากกามฉันทะและความพยาบาท แต่ที่เป็นพิษเป็นภัยที่มันไม่แสดงตัวออกมาก็ตัวนี้แหละ มันทำให้เราหลงว่าไม่ใช่นิวรณ์ ความเป็นจริงแล้วเป็นนิวรณ์ทั้งนั้นแหละเรื่องขี้เกียจขี้คร้าน วันนี้ต้องนั่งน้อย ๆ หน่อย ถ้าตั้งเวลาไว้ให้นั่งน้อย ๆ จะบอกเลยว่า ไม่ไหว ร่างกายทนไม่ไหวแล้ว พอนั่งน้อย ๆ ก็ดีใจ หารู้ไม่ว่านิวรณ์ตัวนี้แหละมันวิ่งเข้ามาสนับสนุนจิตของเรา การที่จิตของเราไม่พัฒนาเท่าที่ควรนั้น เพราะเราหลงกับนิวรณ์ตัวนี้ คิดดูก็ได้ ถ้าเราสวดมนต์มาก ๆ ก็ไม่ได้ กลัวว่าจะไม่ได้นอน เพราะมัวเป็นห่วงเป็นกังวลอยู่ คอยขัดขวางอยู่ เราพิจารณาดูทั้งหมด อะไรก็ตามถ้ามาอ้างที่จะขัดขวางการทำความดี เรารู้เลยว่านั่นแหละตัวนิวรณ์ของถีนมิทธะ บางทีก็นั่งหลับไป บางทีก็อาจนั่งสัปหงกอยู่ นี่เป็นความหมายที่มีเพียงส่วนหนึ่ง สิ่งที่คอยรบกวนจิตไม่ให้เกิดความสงบขึ้นมา ไม่ให้ทำความดี ก็เอามาอ้าง ถ้าเราจะนั่งนาน ๆ เพื่อจะให้จิตนั้นมีการรวมตัวให้เกิดความอดทนและเข้มแข็ง ก็ไม่ได้ มันปวดทนไม่ไหว อย่างไรมันก็อ้างอยู่อย่างนี้

     ทำอย่างไรจิตจะสงบได้ล่ะ ก็จิตยังไม่ทันสงบก็เปลี่ยนท่านั่งแล้วมันก็สงบไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องมาศึกษาพิจารณาตัวนิวรณ์ประเภทนี้ให้ดี ถ้าตราบใดที่เราไม่ทำลายให้ออกไปจากจิตของเราให้หมดแล้ว จิตก็จะสงบไม่ได้ ถ้าเราจะนั่งสมาธิให้สงบ เราก็ต้องพยายาม ต้องใช้เวลา บางทีปวดขึ้นมาก็เปลี่ยนแล้ว พอกำหนดเวลาเท่านั้นเท่านี้ เราก็ต้องต่อลงนิดหนึ่ง ดังนั้น เราก็ต้องพยายามทำให้มันถึงจุด มันจึงจะสงบได้ ถ้าถึงจุดไม่ได้ก็สงบไม่ได้เพราะมีข้ออ้างว่ามันเจ็บมันปวด อ้างเวลาอย่างนั้นเวลาอย่างนี้ เป็นเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเรานั่งสมาธิ นิวรณ์นี้มาครอบงำจิตเราได้ นอกจากจิตดังกล่าวแล้ว จิตขี้เกียจนั่ง นั่งเฉย ปล่อยไม่สนใจและไม่ตั้งใจ ไม่สนใจก็ดี ไม่ตั้งใจจริงจังก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นถีนมิทธะ เฉื่อยชาไม่กระตือรือร้น ไม่พยายามกระตุ้นให้ตื่นขึ้นมา ให้ตัวนิวรณ์ไปกดจิตอยู่อย่างนั้น และจิตก็สงบไม่ได้

    นี่เราต้องศึกษาให้ดีนิวรณ์ประเภทนี้ ถีนมิทธะมันจ้องมากและมันละเอียดมาก ละเอียดจนกระทั่งเราไม่เข้าใจ และโดยเฉพาะเราคุ้นเคยกับมันคุ้นเคยจนกระทั่งราวกับว่าไม่ใช่เป็นตัวกิเลสนิวรณ์ บางครั้งเราก็เห็นเป็นสิ่งที่เราจำเป็น เป็นสิ่งที่เราควรทะนุถนอมเอาไว้ ในการปฏิบัติธรรมนี้ครูบาอาจารย์ท่านจะต้องชำระจิตให้พ้นจากนิวรณ์นี้ บางทีทำไมท่านจึงอดหลับอดนอน บางครั้งทำไมท่านต้องอดอาหาร เพื่ออะไร ก็เพื่อกำจัดนิวรณ์ตัวนี้ กินอาหารมากทำให้ท้องตึงท้องอืด ความขี้เกียจเพิ่มขึ้น นอนมาก ๆ ทำให้จิตเฉื่อยชา เซื่องซึม ความขี้เกียจเข้าครอบงำจิต ทำไมครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติ ท่านดู ๆ เรื่องกามฉันทะ พยาบาท ท่านไม่กลัวเท่าไร สิ่งที่กลัวคือนิวรณ์ตัวนี้แหละ เวลาเกิดถีนมิทธะ ท่านจะเดินให้เกิดความเหนื่อย อดอาหารอดหลับอดนอน เพื่อเป็นการลดละ เพราะจิตมันเฉื่อยชาและขี้เกียจขี้คร้าน

     ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ลักษณะจิตที่เลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว บางทีจิตชอบปรุงแต่งราวกับสร้างวิมานบนอากาศ จิตของเราบางทีก็คิดไป เอาเรื่องนั้นมาคิด จบเรื่องนั้นก็ปรุงแต่งเรื่องนี้ กลับไปเอาเรื่องนั้นมาคิดอีก ความคิดที่ไม่มีจุดหมายปลายทางความคิดที่ไม่มีอะไรแน่นอน ลักษณะอย่างนี้บางทีก็เกิดขึ้นได้ เป็นเพราะจิตที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง จิตฟุ้งซ่าน คิดไปเรื่อยเปื่อย ก็แน่นอนอยู่แล้ว จิตจะไม่อยู่ในฐาน มันต้องเลือนออกจากฐานไป จิตนั้นไม่ปกติแล้ว มันก็ไปเรื่อยเปื่อย แต่อย่างถีนมิทธะที่กล่าวมาแล้ว จิตอยู่ในฐานเหมือนกัน แต่ในฐานที่จิตไม่มีความกระตือรือร้น มันเฉื่อยชาจนกระทั่งจิตนั้นไม่อยากจะทำอะไร มันอืดอาดอยู่อย่างนั้นแหละ ทั้งที่จิตอยู่กับฐาน บางทีจิตอยู่กับฐาน แต่มันไม่ตื่นตัวที่จะรู้จะเห็น แต่อุทธัจจกุกกุจจะนั้นจิตออกจากฐานไป ไม่มีจุดหมายปลายทาง จิตจึงสงบไม่ได้ นั่นมองเห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบาย

     ๕. วิจิกิจฉา ความลังเล ความไม่แน่นอนของจิต คือจิตมันตัดสินใจไม่ได้นั่นเอง เราสังเกตคนที่ทำอะไรแล้วมักตัดสินใจไม่ได้ จิตจะไม่อยู่อารมณ์เดียว บางคนทำอะไรยกจากตรงนี้ไปไว้ตรงนั้น ยกจากตรงนั้นไปไว้ตรงโน้น คิดว่าตรงนี้ไม่เข้าท่า ไปไว้ตรงโน้นดีกว่า ความคิดก็เลื่อนไปอีก ตรงนั้นดีกว่า ความคิดที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนไป เลื่อนไป ไม่มั่นใจ ว่าตรงนี้จะ ถูก จะดีไหม จะปลอดภัยไหมและก็ดูจิตของเรา แม้กระทั่งมานั่งสมาธิภาวนา บางครั้งเรายังกำหนดไม่ได้เลยว่าจะเอาอะไรที่แน่นอน วันนี้กำหนดลมหายใจเข้าออก บางทีก็กำหนดนึกพุทโธ ๆ ไป และยิ่งกว่านั้น ไม่รู้ว่าจิตเรามันวางตรงไหน กำหนดอะไรแน่นอน ความรู้อยู่ตรงไหนแน่นอนจิตก็ไม่รู้ จิตของเราก็ย้ายไปเรื่อย ๆ อยู่อย่างนั้น อันนี้คือในระดับอารมณ์ธรรมดา ๆ ของจิต แต่ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเกิดจิตที่ละเอียดเข้าไปอีก จิตคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น คิดไปในคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ นั่นคือไม่แน่ใจว่ามันจริงอย่างนั้นไหม อันนี้คือสิ่งละเอียดลึกลงไปอีก แต่เอาระดับธรรมดา ๆ ลองดูเราจะคิดอะไรทำอะไร บางครั้งมันไม่แน่นอน มักจะย้ายจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เมื่อเปลี่ยนไปจิตก็ย้ายไป มันก็สงบไม่ได้ ฉะนั้น หากจิตของเรามั่นคงในจุดในเวลานี้แล้วมากำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกเอาให้มั่นคงแน่ ๆ แล้ว แม้เปลี่ยนไปเรื่องอื่น เราก็ไม่ต้องย้ายไปเรื่องอื่น เท่านั้นก็จะสงบลง

    ฉะนั้น เรามาดูนิวรณ์ทั้งห้า ถ้าครอบงำจิตของเรา นิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม จะทำให้จิตเรานี้เป็นปกติไม่ได้ เมื่อจิตไม่เป็นปกติ จิตก็สงบไม่ได้ กามฉันทะก็ดี พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา นี้แหละเป็นตัวทำให้จิตของเราสงบไม่ได้ สงบไม่ได้เพราะอะไร ก็เพราะมีนิวรณ์ทั้งห้าเป็นอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตนึกคิดปรุงแต่งนั่นเอง นิวรณ์เป็นอารมณ์ที่จิตคิดแล้วทำให้จิตไม่ดี เมื่อจิตไม่ดีก็ทำให้จิตผิดปกติ จึงสงบไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงหาอารมณ์อื่น คืออารมณ์ที่ดี ๆ มาคิดแทน โดยปกติจิตมักคิดเรื่องอารมณ์ที่ไม่ดี จะเป็นกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นอารมณ์ที่ไม่ดีของจิต เมื่อจิตคิดอย่างนั้น จิตก็ไม่สงบ เพราะฉะนั้น หลักในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำหรือทรงพิจารณาว่า เราควรจะเอาอารมณ์ที่ดีเข้ามา เพื่อที่จะกำจัดอารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นออกไปจากจิต นั่นคือการเอาอารมณ์แห่งกรรมฐาน ๔๐ ชนิดด้วยกัน เข้ามากำจัดปราบปรามตัวอารมณ์ไม่ดีคือนิวรณ์นี้ และก็มีกรรมวิธีที่จะปราบนิวรณ์แต่ละเรื่องไป ท่านกล่าวไว้ว่านิวรณ์ใดเอาอารมณ์ชนิดใดเข้ามาปราบ เช่น กามฉันทะก็ต้องเอาอสุภกรรมฐาน คือพิจารณาของไม่สวยไม่งามมาทดแทนเสีย หรือถ้าหากว่าจิตมีความพยาบาท ก็จะเอาพรหมวิหาร ๔ มีเมตตาเป็นต้น มาปราบเสีย เพราะฉะนั้น อารมณ์กรรมฐานทั้ง ๔๐ นั้น เป็นเครื่องมือเอามาปราบนิวรณ์

     อย่างเรามากำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นอารมณ์ เราก็มาลองพิจารณาดูว่า การที่เรากำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก หรือเราเอาพุทธคุณมาบริกรรมด้วย สามารถที่จะปราบตัวนิวรณ์ทั้งหลายได้ไหม จะเห็นว่าสามารถที่จะปราบได้ เพราะอะไร เพราะเรามาระลึกลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่นี้ เรานึกพุทโธ ๆ อยู่ ให้จิตของเรามาอยู่กับลมหายใจเข้าออก อารมณ์ที่เราไปนึกรักใคร่พอใจและยินดี หรือจิตที่พยาบาทคนอื่นจิตที่ขี้เกียจขี้คร้าน จิตฟุ้งซ่าน จิตไม่แน่นอน มีไหม จะพบว่าไม่มี มีอารมณ์เดียวที่ให้จิตเรานึกแต่พุทโธ ๆ อยู่นี้ มันจะสร้างอารมณ์ขึ้นมาใหม่ อารมณ์พุทโธนี้เป็นอารมณ์ดีเป็นกุศล จะทำลายกิเลสไปโดยปริยาย

   เพราะฉะนั้น เราเพียงแต่มากำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้นระลึกอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก อย่าปล่อยให้จิตเราออกไปอยู่ที่เรื่องอื่นเสียก็ทำให้นิวรณ์ทั้งห้านั้นดับไปโดยปริยาย เพราะเราไม่ไปปรุงแต่ง เราปรุงแต่งเฉพาะลมหายใจเข้าลมหายใจออก หรือเราปรุงแต่งเฉพาะพุทโธ ๆ อยู่นี้ถ้าจิตเรานึกพุทโธ ๆ อยู่ติด ๆ กัน จนกระทั่งจิตเราไม่เลื่อนไปที่อื่น มันไม่ขยับไปที่อื่น มันจะอยู่ตรงนั้น ตรงที่ลมหายใจเข้าออกที่เรากำหนดรู้อยู่นี้ จิตของเราก็สงบได้ นิวรณ์ก็เริ่มดับลง

   ถ้าตราบใดที่จิตเรายังอยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ นิวรณ์ก็เข้ามาไม่ได้ ถ้าจิตเราถอนออกจากลมหายใจเข้าออกแล้วไประลึกถึงนิวรณ์ใดนิวรณ์หนึ่งขึ้นมานั้น มันก็ครอบงำจิตเราทันที จิตเราก็สงบไม่ได้ เพราะฉะนั้น พยายามเอาสติคือระลึก สัมปชัญญะคือรู้ตัว และก็พยายามที่จะกำหนดอยู่ที่ตรงนั้น จนกระทั่งความรู้สึกของเรานั้นไปจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนานเท่าที่จะนานได้ และก็มีการระลึกอยู่ตลอดสายคือไม่มีการขาดตอน จิตมันก็เข้าสู่ความสงบได้ นี่ถ้านิวรณ์ดับจิตก็สงบ เมื่อจิตสงบนิวรณ์ก็ดับไปเอง พอดับนาน ๆ เข้า สงบนาน ๆ เข้า จิตก็เริ่มผ่องใสขึ้นมา ในที่สุดจิตก็เข้าสู่ความสงบแนบนิ่งไป

  เริ่มต้นจิตอาจจะสงบชั่วขณะหนึ่ง คือในขณะที่เรามีสติกำหนดรู้อยู่กับคำที่เราบริกรรมอยู่ พอเราสงบนานเข้า ๆ จนจิตไม่อาจเผลอแวบไป บางทีพอเรานั่งไป ๆ จนจิตนั้นสงบจนไม่ไปไหนแล้ว คือมันเข้าไปสู่ความสงบที่แนบสนิทจริง ๆ จนกระทั่งคำบริกรรมก็ไม่มี คือไม่ต้องระลึกแล้ว พุทโธก็ไม่ต้องระลึก ลมหายใจก็ไม่ต้องรู้ ให้จิตมันนิ่งดิ่งอยู่อย่างนั้นแหละและมันนิ่งอยู่นานเท่าไรก็ได้ จะนั่งได้เป็น ๒-๓ ชั่วโมง หรืออาจ ๔ ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นเป็น ๑-๒ วัน หรือ ถึง ๗ วันก็ได้ และจิตมันจะไม่ออกมารับรู้ภายนอกเลย นั่นเรียกว่าเป็น อัปปนาสมาธิ คือจิตที่เป็นสมาธิที่แนบแน่น

ในหลักของสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ

    ๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะหนึ่ง มันไม่นาน แต่ก็เป็นสมาธิเหมือนกัน

    ๒. อุปจารสมาธิ คือมันเฉียด ๆ เป็นสมาธิเหมือนกันขณะหนึ่งเดี๋ยวมันก็หยุดไป ไม่แนบแน่น

    ๓. อัปปนาสมาธิ ดังได้พูดมาแล้ว มันจะแนบสนิท นั่งอยู่นานเท่าไรก็ไม่รับรู้ภายนอกทั้งสิ้น จะรู้ก็แต่ภายในเท่านั้น

นี่คือลักษณะของสมาธิที่เราควรจะเรียนรู้ ซึ่งจะได้บรรยายในโอกาสต่อไป

 


 

เรื่อง รูปฌาน ๔

ประณมมือขึ้น แล้วว่าตาม......

    “ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ คุณความดีทุกประการ จงมาดลบันดาลให้จิตของข้าพเจ้า จงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ พุทโธ พุทโธ “ เอามือลง

     นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาหงายทับมือซ้ายวางไว้บนตักตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดลมหายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ ให้นึกพุทโธ ๆ อยู่ในใจพร้อมกับหลับตา ในขณะเดียวกันเราก็ฟังการบรรยายอบรมไปในตัวด้วย การที่เราฟังการอบรมนั้น อย่าเอาใจของเราออกมาที่เสียง ให้เราเอาเสียงนั้นไปไว้ที่เราของเรา คือให้ฟังอยู่ที่หู แล้วกำหนดรู้อยู่ที่ใจ เราเพียงแต่ทำความรู้อยู่ภายในเท่านั้น คือ ฟังเอาความหมายว่าการบรรยายนั้นพูดถึงเรื่องอะไร แล้วก็ทำความรู้ให้เกิดภายในจิตของเราเท่านั้น อย่าให้จิตของเราวิ่งเข้าวิ่งออกตามเสียงเพียงแต่เรากำหนดรู้ ให้ความรู้อยู่ภายในจิตเท่านั้น

    ขณะที่เราฟังอยู่นี้ ถ้าจิตของเราสามารถกำหนดรู้อยู่ภายใน โดยไม่ให้ความรู้สึกนึกคิดของเราไปคิดในเรื่องอื่น การฟังนั้นก็สามารถที่จะทำจิตของเราให้เกิดสมาธิได้ เมื่อจิตของเราเข้าสู่สมาธิแล้ว สภาวะจิตของเรานั้นจะมีความเป็นอย่างไร จิตของเรานั้นเมื่อเราสามารถรวบรวมความคิดให้มายึดติดอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยไม่เปลี่ยนแปลงก็จะเข้าสู่สมาธิ การที่จิตเข้าสู่สมาธินี้เอง สภาวะจิตก็จะเกิดขึ้น การที่จิตไปยึดติดในอารมณ์นั้น ในคำอีกคำหนึ่งท่านมักจะใช้คำว่า ฌาน หรือที่เราเคยได้ยินว่า เข้าฌาน

     ฌาน หมายถึงจิตที่ไปเพ่งหรือไปยึดไปติดอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในสมาธินั่นเอง เพราะคำว่าฌานแปลว่าการเพ่ง เพราะฉะนั้น จิตของเราที่อยู่ในสมาธิ ก็คือจิตเพ่ง จิตจ้อง จิตจดจ่อ จิตยึดอยู่ในอารมณ์ที่เรากำลังระลึกอยู่ เช่นในเวลานี้ จิตของเราก็กำลังเพ่งไปที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก พร้อมกับเราระลึกคำบริกรรมพุทโธ ๆ อยู่ในใจการที่จิตเข้าไปเพ่งอยู่ในอารมณ์ใดอยู่นั้น เมื่อเพ่งนาน ๆ จนกระทั่งจิตนั้นไม่ขยับเขยื้อนไปที่อื่น คือยังเพ่งยังมองและยึดติดอยู่ตรงนั้น ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า จิตเป็นสมาธิ และจิตกำลังเข้าอยู่ในลักษณะของฌาน

ฌานนั้นท่านแบ่งเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ ๆ คือ รูปฌาน และ อรูป  ฌาน

    คำว่า รูปฌาน นั้นหมายถึงจิตเพ่งอารมณ์ที่เป็นรูป ถึงไม่เป็นรูป แต่ก็เป็นลักษณะบางประการที่เป็นรูปธรรม ส่วนอรูปฌานนั้น คือจิตที่เพ่งในสิ่งที่ไม่มีรูป ไม่มีตัวตน เรื่องนี้จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ วันนี้จะกล่าวถึงเฉพาะรูปฌาน ซึ่งจิตที่เราฝึกหัดปฏิบัติจนเกือบเป็นสมาธิแล้ว จิตก็จะเข้าไปสู่รูปฌาน รูปฌานนี้เป็นลักษณะการเดินทางของจิตที่เราได้ฝึกฝนอบรมมา มีลำดับขั้นตอนทั้งหมดถึง ๔ ขั้นด้วยกัน

    ขั้นที่ ๑ เรียกว่า ปฐมฌาน

    ขั้นที่ ๒ เรียกว่า ทุติยฌาน

    ขั้นที่ ๓ เรียกว่า ตติยฌาน

    ขั้นที่ ๔ เรียกว่า จตุตถฌาน

    การที่ท่านแบ่งเป็นขั้น ๆ อย่างนี้ ก็เป็นการแบ่งขั้นการเดินทางของจิตที่เข้าสู่สมาธิตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียดนั่นเอง เราลองมาศึกษาสภาวะจิตของเราที่เริ่มเข้าสู่ปฐมฌานว่ามีลักษณะอย่างไร สภาวะจิตเมื่อไม่ได้ฝึกฝนจะมีนิวรณ์มารบกวน แต่เมื่อเราฝึกจนสามารถกำจัดนิวรณ์ทั้งห้าได้หมดแล้ว จิตของเราก็รวมเป็นสมาธิดิ่งอยู่กับอารมณ์เดียว ลักษณะของจิตในขณะนี้เป็นจิตที่กำลังประคองอารมณ์อยู่ เมื่อแระคองอารมณ์อยู่จนจิตมันนิ่งดิ่งในอารมณ์เดียวนี้เอง มันจะเกิดอาการขึ้นภายในจิต ๕ ลักษณะด้วยกัน

    ๑. ลักษณะจิต วิตก คำว่าจิตวิตกนี้ เราก็อาจนึกถึงอย่างคนวิตกกังวล คือเป็นลักษณะของจิตไปยึดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแล้วเกิดความกังวลเดือดร้อน นั่นเรียกว่าเกิดความวิตกกังวล แต่ คำว่าวิตกของจิตที่อยู่ในฌานที่เป็นปฐมฌานนี้ เป็นจิตที่มีความวิตก คือจิตมาประคองอารมณ์ เช่นขณะนี้จิตของเรากำลังประคองอารมณ์พุทโธ ๆ อยู่ จิตนั้นจะไม่ละจากจุดตรงนี้ และจะไม่ละจากคำว่าพุทโธ มันจะอยู่ตรงนี้จะมีอะไรหรืออารมณ์อื่นเข้ามาแทรกก็ตาม จิตจะไม่สนใจ จะสนใจเฉพาะอารมณ์ที่กำลังระลึกอยู่เท่านั้น หรือกำลังประคองอารมณ์ลมหายใจเข้าออกอยู่ ตัวจิตก็จะอยู่ตรงนั้น จะไม่ขยับเขยื้อนไปอยู่ที่อื่น จะนึกอยู่ตรงนั้น จะบริกรรมอยู่ตรงนั้นแหละ จะนึกพุทโธก็นึกพุทโธ ๆ อยู่ตรงนั้น จะไม่มีการถอยขยับไปไหน นี่จิตมันมีคำว่าวิตกกังวลเหมือนกัน มันกังวลอยู่ในอารมณ์นี้ ไม่ใช่เป็นวิตกกังวลเหมือนจิตธรรมดา จิตธรรมดามันวิตกกังวลแล้วทำให้เกิดทุกข์ แต่นี้จิตวิตกที่มีการประคองอารมณ์นั้นเอาไว้

    ๒. ลักษณะจิตที่เรียกว่า วิจาร เป็นลักษณะของจิตพิจารณาคือจิตมอง จิตดู จิตทำความเข้าใจ จะมองดูลมหายใจเข้าออกก็ดีพิจารณาดูในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็ดี นั้นเป็นวิจาร วิจารคือลักษณะของจิตพินิจพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญดู คล้าย ๆ กับเราได้ของมาสักชิ้นหนึ่ง ตัววิตกคือจับของนั้นเอาไว้ แต่วิจารคือมาพินิจพิจารณาดูของนั้นว่ามีลักษณะอย่างไร มีสีสันอย่างไร มีความสามารถและประโยชน์อย่างไร ตัววิจารทำหน้าที่พิจารณา จะเป็นพิจารณาอารมณ์ที่ประคองอยู่ก็ตาม หรือพิจารณาอะไรในสิ่งที่จิตกำลังประคองอยู่นั้น นี่คือลักษณะของคำว่าวิจาร

    ๓. ลักษณะจิตที่เรียกว่า ปีติ ปีติเป็นลักษณะของความอิ่มความอิ่มใจ ความเบิกบานใจ ซึ่งเป็นผลของความสุขที่รุนแรง ถ้าธรรมดาก็เป็นตัวความสุข แต่ความสุขที่รุนแรงมันทำให้เกิดปีติ คือทำให้เกิดความดีใจ เรามาลองนึกดู อย่างเราได้อะไรมาใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการ ความปีติคือความอิ่มใจนี้จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับจิตของเราแต่ก่อนนั้นมีความวุ่นวาย มีความเดือดร้อนต่าง ๆ แต่พอจิตของเรานั้นมาประคองกับอารมณ์อยู่ สลัดนิวรณ์ทั้งหมดออกไปได้ ความเบา ความโปร่ง และความสบายของจิตก็เกิดขึ้น ทำให้จิตนั้นมีความสุขอย่างแรงมาก เลยกลายมาเป็นปีติคือความอิ่มใจขึ้นมา ลักษณะของปีตินี้ เราจะสังเกตเห็นได้ว่าเกิดขึ้นหลายลักษณะ เช่นบางคนเกิดขึ้นแล้วน้ำตาไหลออกมา คือมันอิ่มจนน้ำตาไหลและร้องไห้ก็มี บางคนเกิดการขนลุกซู่ขึ้นมา บางคนตัวลอยขึ้นก็มี นี่คือลักษณะของจิตที่มีปีติ ลักษณะเช่นนี้อยู่ในปฐมฌาน คือฌานชั้นแรก

    ๔. ลักษณะจิตที่เรียกว่า สุข ความสุขกับปีติมีลักษณะที่แตกต่างกันตรงที่ว่า ที่ใดมีปีตินั้นจะต้องมีความสุขด้วย แต่ที่ใดมีความสุขอาจจะไม่มีปีติก็ได้ เพราะฉะนั้น ตัวความสุขนั้นเกิดขึ้นภายในจิต เป็นความสุขที่ลึกซึ่ง ส่วนปีตินั้นเป็นลักษณะของความอิ่ม อิ่มใจ ไม่ใช่สุขใจ เพราะฉะนั้น ปีติจะอยู่ลอย ๆ โดด ๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยความสุข แต่เป็นความสุขที่มีปริมาณสูงจนจิตเราคุมไม่อยู่ เลยกลับกลายมาเป็นลักษณะอิ่มใจเรียกปีติ

ในลักษณะของปฐมฌานนี้ เราจะสังเกตดูว่า ทำไมจึงมีปีติเกิดขึ้นเพราะว่าจิตของเราแต่ก่อนคล้าย ๆ กับมันต้องแบก ต้องยึดต้องถือและต่อสู้ต่าง ๆ ทำให้จิตของเราต้องทุกข์เดือดร้อน ต้องหนักอันเกี่ยวกับอารมณ์คือนิวรณ์นี้ แต่เมื่อจิตของเรานั้นกำจัดนิวรณ์ออกไปหมด ทำให้จิตเบา สบายเย็น และสงบ มันเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จนจิตเราไม่เคยชินต่ออารมณ์ชนิดนี้ ก็เลยทำให้เกิดความสุขที่มีพลังสูงมาก จึงเป็นปีติเกิดขึ้น และความสุขก็เกิดขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องไปรับหรือแบกยึดถือกับอารมณ์ที่มากระทบทำให้จิตเราต้องกระเพื่อมและวุ่นวายคือนิวรณ์ จิตก็นอนนิ่งเกิดความสุขขึ้นนี่คือลักษณะที่ ๔ เป็นอาการของจิตในปฐมฌาน

    ๕. ลักษณะจิตที่เรียกว่า เอกัคคตา คือ จิตมีอารมณ์เดียว จิตประคองอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน คือจิตดิ่งลงไป แต่จิตในปฐมฌานนี้ยังมีคำว่าวิตก คือจิตตื่น มันต้องทำหน้าที่คือหน้าที่ในการบริกรรมบ้าง หน้าที่ในการนึก การคิด และการพิจารณา คือ วิจารอยู่ เราดูสภาวะจิตของเรา พอเข้าสู่สมาธิแล้ว จะต้องมีลักษณะอย่างนี้เป็นจุดเริ่มต้น เพราะฉะนั้น พวกเรานักปฏิบัติธรรม เมื่อจิตของเราสงบแล้ว เรารู้ว่าขณะนี้จิตเรากำลังอยู่ในปฐมฌาน คือจิตเรากำลังบริกรรมอยู่ ในอารมณ์เดียว และจิตเรามีวิจารคือตริตรองพิจารณาหาเหตุผลอยู่ และก็มีปีติความอิ่มเอิบใจ ความสุขก็เกิดขึ้น และจิตก็จะดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น

    ลักษณะของจิตเมื่ออยู่ในสภาวะอย่างนี้นาน ๆ เช่น เราบริกรรมพุทโธ ๆ ไป จนกระทั่งจิตนั้นสงบเต็มที่ เราไม่จำเป็นต้องนึก ต้องคิด และบริกรรมแล้ว จิตจะประคองอารมณ์ อย่างอารมณ์พุทโธก็ดี หายใจเข้าออกก็ดี จิตจะไม่ทำงานแล้ว คือหยุด ปล่อยทิ้งเสีย ปล่อยทั้งความวิตกคือจิตที่ประคองอยู่ ปล่อยทั้งจิตที่ไปพิจารณานั้น ปล่อยทิ้งไม่จำเป็นอีกต่อไป ลักษณะของจิตนั้นจะมีเพียงความอิ่มเอิบอยู่ในสมาธิ และก็มีความสุข และจิตที่ดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อยู่ตรงนั้นแหละไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ถ้าสภาวะจิตอย่างนี้เกิดขึ้น แสดงว่าจิตของเราเลื่อนขึ้นแล้ว ขึ้นไปสู่ ทุติยฌาน คือฌานขั้นที่ ๒

  ฌานที่ ๒ นี้ ถ้าจะเปรียบเทียบกับสิ่งภายนอกที่เกิดขึ้นกับเราตัวอย่างเช่น เราได้ของอะไรมาใหม่ ๆ ที่ชอบใจ สมมติว่าเราไปซื้อรถยนต์มาใหม่เอี่ยม เดี๋ยวเราก็ต้องไปจับ เช็ดถู เดี๋ยวก็ต้องมองแล้วมองอีก ที่เช็ดถูและมองดูนั้นแหละคือลักษณะของวิตกวิจาร ตอนได้มาใหม่ ๆ มักจะมีลักษณะครบ ๕ อย่างเหมือนกัน คือมีความอิ่มใจและมีความสุขอีกด้วย จิตจะจดจ่ออยู่ในรถยนต์คันนั้น พอนานเข้า ๆ จิตที่ไปนึกไปคิดอยู่กับเรื่องการไปเช็ดถูและทำความสะอาดจะไม่ค่อยมีแล้ว มันจะหมดไป สิ่งที่มีอยู่ก็คือ ความอิ่มใจ ความสุขในการใช้รถ และจิตที่จดจ่ออยู่ในรถยนต์นั้น นี้ก็เช่นเดียวกันกับสมาธิที่เราได้ คือ พอจิตประคองอารมณ์ จิตวิจัยอารมณ์ จนจิตอิ่มตัวแล้วก็ปล่อยทิ้งเหลือแต่ความอิ่มใจ ความเบิกบาน และความสุข จิตก็ดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวนั้น นี่ลักษณะอย่างนี้เป็นลักษณะของจิตที่ขึ้นไปสู่ระดับทุติยฌาน คือฌานขั้นที่ ๒ เราจะสังเกตเห็นได้ว่า การที่เราฝึกหัดสมาธิภาวนา หรือฝึกหัดจิตนั้น เป็นวิธีการตัดกระแสอารมณ์ต่าง ๆ หรือตัดเครื่องปรุงแต่งของจิตนั่นเอง แรกก็ตัดเครื่องปรุแต่งของนิวรณ์ พอตัดนิวรณ์ได้ จิตก็ขึ้นขั้นเข้ามาในฌานขณะอยู่ในฌาน จิตก็ยังทำงานนึกคิดปรุงแต่งวิจัยวิจารอยู่ พอฝึกจิตสงบเต็มที่มันก็จะละจิตที่มีความคิดปรุงแต่งที่มีอารมณ์ที่เราบริกรรมให้หยุดอยู่แค่นั้น ในที่สุดจิตก็อยู่ในลักษณะของความอิ่มใจ ความสุข จิตก็ดิ่งอยู่ กับอารมณ์เดียวเท่านั้น

    ทีนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาอีก เราจะสังเกตดูว่า อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราได้มาใหม่ ๆ อย่างรถยนต์ที่กล่าวมานี้ เรามีความอิ่มเอิบใจ จะเดิน นั่ง นอน ก็อิ่มใจ แต่พอเราใช้ไปนาน ๆ เข้า ความอิ่มใจนั้นค่อย ๆ หมดไป ๆ มันหมดไปเอง เพราะเกิดความเคยชินเข้า อารมณ์แห่งความอิ่มใจนี้จะค่อยจางไป ๆ ในที่สุดก็หมดไป เหลือแต่ความสุขที่จิตอยู่ในสมาธิ เหลือแต่จิตที่ดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว คือเอกัคคตา นี่ถ้าหากลักษณะจิตอย่างนี้เกิดขึ้น นั่นแหละจิตเราขึ้นไปสู่ตติยฌาน เป็นฌานขั้นที่ ๓ ถ้าเปรียบเทียบกับที่เราได้ของอะไรมา ใช้นาน ๆ ไปมันก็อิ่ม พออิ่มหมดไปมันก็อยู่กับการใช้ของนั้นอยู่นั่นเอง จิตในตติยฌานจะยังมีสภาวะจิตหรืออารมณ์ของจิตอยู่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือความสุข สุขอยู่อย่างนั้น และจิตก็จะอยู่กับอารมณ์เดียวเท่านั้น จะไม่กระดุกกระดิก ไม่ขยับไปข้างไหนเลย ถ้าเราสังเกตดูในฌานที่ ๓ นี้ จิตของเราก็ยังเสวยอารมณ์อยู่ คือ ความสุขบางทีนักปฏิบัติธรรมพอนั่งสมาธิผ่านเข้ามาถึงจุดตรงนี้ บางคนก็ติดอยู่ตรงนี้ พอนั่งไปแล้วจิตก็มีความสุขก็ดิ่ง บางทีนั่งตลอดวันตลอดคืนอยู่อย่างนั้นแต่โปรดเข้าใจว่าลักษณะจิตอย่างนี้ หลักในทางพุทธศาสนาท่านบอกว่ายังไม่ถึงจุด มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง

   ทีนี้เรามาพิจารณาดูสภาวะจิตที่อยู่ในตติยฌานนี้ เป็นลักษณะของจิตที่เสวยอารมณ์ คือ ความสุข แต่ความสุขเหล่านี้ ถ้าเราอยู่นาน ๆ เข้า บางทีความสุขจะหายไป เหมือนกับเราได้ของมาใหม่ ๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น ตอนแรกเรามีปีติอิ่มใจ พอนาน ๆ ไปอิ่มใจหายหมดไป ก็มีความสุข ความสุขในการใช้สิ่งเหล่านั้น แต่เมื่อเราใช้นานไป ๆ ก็กลายเป็นเฉย ๆ คือไม่มีความรู้สึกอะไรเลย เราจะหยิบจะใช้หรือจะทำอะไร ความรู้สึกภายในจิตจะไม่มีความรู้สึกว่าสุขหรือทุกข์จะไม่มี จะรู้สึกเฉย ๆ ในสิ่งของนั้น ๆ

    ลักษณะของจิตที่อยู่ในฌานนี้ก็เหมือนกัน มันก็คล้ายกับว่าเราได้สมาธิใหม่ ๆ แหมมันมีความสุข สุขเพราะจิตสงบ จิตเบา และจิตไม่ต้องต่อสู้กับอำนาจของกิเลสหรือนิวรณ์ที่มากระทบกระทั่ง คือมันมีความสุขเราสังเกตดู พอความสุขมันเริ่มแต่ฌานที่ ๑,๒,๓ ความสุขนี้จะเกิดขึ้นมาตลอดจนกระทั่งจิตนี้มีความสุขพอ จนมันชินชาไปแล้ว ก็เลยกลับกลายเป็นจิตที่มีความวางเฉย เป็นอุเบกขาจิต คือจิตนั้นจะวางเฉยอยู่ จะไม่มีความรู้สึกอะไร ที่ว่าสุขก็ไม่ใช่ จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่คือเฉย ๆ ลักษณะอย่างนี้ถ้าเกิดขึ้น แสดงว่าจิตขึ้นไปสู่ จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ ในฌานขั้นนี้ เป็นลักษณะของจิตที่มีเอกัคคตากับอุเบกขา คือจิตจะมีอารมณ์เดียว ดิ่ง และจิตก็วางเฉย จิตระดับนี้ นอกจากจิตจะวางเฉยแล้ว จิตจะไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น ผู้ที่เข้าสู่สมาธิในระดับนี้ ถ้าจิตดิ่งลงไปจริง ๆ จนกระทั่งแม้แต่เสียงที่ดังขนาดไหนก็แล้วแต่ไม่ได้ยินคือใครจะทำอะไร ก็จะไม่ได้ยิน จะไม่รู้สึกอะไรเลย มีแต่จิตที่เข้าถึงและลึกลงไป นี่คือจิตอยู่ในจตุตถฌาน

  เราพอจะเรียนรู้ลักษณะของสภาวะจิตตามขั้นตอนที่จิตเป็นสมาธิตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้ายของรูปฌาน ลักษณะนี้เป็นทางเดินของจิตที่จิตเดินเข้าไปสู่ความสงบในระดับของสมถกัมมัฏฐาน ทีนี้เราลองมาพิจารณาดูถึงสภาวะของจิต จิตของเราแม้จะอยู่ในระดับตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌานก็เป็นเพียงลักษณะของจิตที่อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น คือจิตมีสมาธิ ถ้าเราจะพูดในลักษณะของจิตที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น ในระดับฌานนี้ จะเกิดประโยชน์เพียงแค่ทำให้จิตสงบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถไปทำลายตัวกิเลสตัณหาอุปาทานได้หมด

      ทีนี้เราลองมาพิจารณาดูสายการเดินทางของจิตระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาอื่น โดยเฉพาะก็คือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู หรือของอินเดีย ที่เขามีการฝึกหัดปฏิบัติจิตให้ได้ฌานตั้งแต่ระดับต้นจนกระทั่งถึงที่สุดของรูปฌาน แล้วจิตจะผ่านเข้าไปสู่อรูปฌาน หลักในศาสนาอื่นโดยเฉพาะในศาสนาฮินดูนั้น จะเดินไปในเส้นทางนี้ เส้นทางตั้งแต่ปฐมฌาน การดับความรู้สึกภายในจิต ทั้งวิตก วิจาร ปีติ สุข จนถึงที่สุดแห่งเอกัคคตาและอุเบกขา แล้วในที่สุดจะข้ามไปถึงอรูปฌาน และจิตเข้าไปอยู่ในอรูปฌานนั้น ในสายนี้เป็นสายที่เดินขึ้นไปสู่พรหมโลกถ้าจิตดับในขณะนั้น

      ถ้าจิตของผู้ใดเข้าสู่ปฐมฌานเมื่อใดและถ้าดับในขณะนั้น แสดงว่าจิตของผู้นั้นขึ้นไปสู่พรหมโลกทันที พรหมโลกนั้นมีระดับตามความเข้มข้นของจิต เช่น ในรูปฌาน ๔ ก็ไปเกิดในรูปพรหม ๑๖ ในชั้นใดชั้นหนึ่ง อยู่ในฌาน ๔ หรือบางทีเรียกว่า ฌาน ๕ ก็มี ส่วนผู้ที่ขึ้นไปสู่อรูปฌาน ถ้าดับจิตในช่วงนั้นก็จะไปสู่อรูปพรหม ๔ ชั้นใดชั้นหนึ่ง นี่คือเส้นทางของผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนา ถ้าอยู่ในฌานก็เดินสายนี้ จะอยู่เพียงรูปพรหมหรืออรูปพรหมเท่านั้น และก็ยังอยู่ในโลกิยะภูมิคือภูมิที่เป็นโลกิยะ แล้วจิตนั้นก็มีโอกาสที่จะเวียนว่ายตายเกิดมาอีก เป็นเพราะอะไร เพราะจิตนั้นไม่มีโอกาสได้ทำงาน ได้พิจารณาเพื่อทำลาย เพื่อละ เพื่อวาง เป็นเพียงแต่จิตนั้นถูกกดทับบังคับไว้ นี่แหละ บางทีนักปฏิบัติธรรมในปัจจุบันก็มีการโต้เถียงกันว่า “นั่งสมาธิภาวนาแบบสมถะนั้นจะเพียงเหมือนกันหินทับหญ้าเท่านั้น” ที่กล่าวก็ถูกของเขา เพราะจิตไม่มีปัญญาอะไรเลย จิตเพียงแต่สงบอยู่อย่างนั้น ส่วนกิเลสอาสวะที่นอนเนื่องในสันดานนั้นเราไม่ได้ทำอะไรเลย ยังอยู่เหมือนเดิมทั้งหมด

  พระพุทธเจ้าของเราก่อนที่จะได้ตรัสรู้ พระองค์ได้ไปทรงศึกษาในสายนี้มาก่อนแล้ว โดยได้ทรงศึกษากับอาฬารดาบสและอุทกดาบส ทรงได้ถึงสมาบัติ ๘ คือได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ คือทรงได้สมาบัติ ๗ จากสำนักอาฬารดาบส และสมาบัติ ๘ จากสำนักอุทกดาบส การเข้าถึงสมาบัติ ๘ ก็คือเส้นทางนี้เอง เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงรู้มาก่อนแล้ว แต่ก็ทรงไม่พอพระทัย คือเพียงแต่ จิตมีความสงบสามารถที่จะมีความสุขอยู่ในสมาธินี้ แต่พอออกจากสมาธิแล้ว กิเลสต่างๆ ก็ยังมีอยู่ ยังไม่โผล่ออกมา พอทำสมาธิมันก็หายไป ออกจากสมาธิเมื่อไหร่เวลามีอะไรมากระทบ มันก็โผล่ขึ้นมา แสดงว่ารากเหง้าของมันยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น จึงยังไม่เป็นทางที่จะพ้นทุกข์ได้

พระองค์จึงได้ออกจากอาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน คืออาฬารดาบสและอุทกดาบสมาบำเพ็ญธรรมทางจิตใหม่ ในที่สุดพระองค์จึงมาเดินอีกเส้นทางหนึ่ง เส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงดำเนินนั้นคือมาปฏิบัติที่จิต เอาจิตที่ได้ฝึกฝนมาดีแล้ว คือจิตที่มีพลังของสติและสมาธิ มาใช้ให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น ในประการแรกของการเริ่มต้น เราจำเป็นต้องอาศัยจิตนั้นให้มีความสงบ ให้มีพลัง ถ้าจิตไม่สงบและเราใช้จิตนั้นพิจารณาให้เกิดปัญญามันจะไม่ชัดแจ้งและไม่แจ่มแจ้ง ยกตัวอย่างเหมือนกับเรานั่งรถ ถ้ารถนั้นวิ่งเร็วเท่าไร เราจะมองเห็นสิ่งข้างๆ ถนนไม่ค่อยชัด ถ้าเราชะลอให้ช้าลงเท่าไร เราก็สามารถมองเห็นสิ่งข้างๆ ที่รถผ่านนั้นค่อยๆ ชัดขึ้นๆ จนกระทั่งเมื่อรถนั้นหยุดสนิท เราก็จะมองเห็นได้ชัดเจน หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง จิตเราเหมือนกับน้ำ ถ้ามันกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา น้ำนั้นจะขุ่น ที่ขุ่นเพราะมีตะกอนอยู่ข้างล่าง ถ้าขุ่นจะทำให้มองเห็นอะไรไม่ชัดเจน ต่อเมื่อตะกอนตกไปข้างล่างหมดแล้วน้ำจะใน พอน้ำในก็สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีอะไรอยู่ข้างในก็มองเห็นได้

    ฉันใดก็ดี จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าหากปล่อยให้จิตคิดจิตวิ่งอยู่ตลอดเวลา เวลาพิจารณาให้เกิดปัญญานั้นจะพิจารณายาก ถึงพิจารณาเห็นก็เห็นเพียงสัญญาความนึกคิดเท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากความรู้ปัญญาภายใน เพราะจิตมันยังคิดยังนึกปรุงแต่งวุ่นวายอยู่ จึงมองไม่เห็นชัด และอีกประการหนึ่ง ธรรมชาติของจิตเรานั้นมีเชื้อคือมีตะกอนอยู่ข้างในแล้ว ถ้าปล่อยจิตให้กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ตะกอนก็มารบกวนจิต ตะกอนก็คือนิวรณ์นั้นแหละ เป็นเหตุให้จิตของเราขุ่นมัว เมื่อขุ่นแล้วจิตจะไม่สะอาด จะมองอะไรไม่เห็น ฉะนั้น ถ้าเราตั้งจิตของเราให้นิ่งจนกระทั่งให้ตะกอนที่มีอยู่นั้นลงไปข้างล่างให้หมด จิตเราก็เริ่มผ่องใส เริ่มสะอาดแล้ว เมื่อจิตผ่องใสและสะอาดแล้ว เราใช้ปัญญาในการพิจารณา ก็จะเห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งกับสิ่งที่เรามองเห็นนั้น

  การที่เราอาศัยการฝึกสมาธิจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติเพื่อที่จะไปพิจารณาให้เกิดปัญญาในโอกาสต่อไป ในเบื้องต้นเราจึงต้องฝึกจิตของเรานี้ให้สงบ ให้เดินตามลำดับขั้นตั้งแต่ปฐมฌานไป เราก็ต้องฝึกไปจนกระทั่งจิตของเรานั้นไปอยู่ในตติยฌาน จิตในตติยฌานนี้เป็นช่วงจิตที่เราจะต้องนำมาใช้ทำประโยชน์ เพราะถ้าจิตเลื่อนขั้นไปถึงจตุตถฌานแล้ว จิตจะไม่อยากทำงานอะไรอีกแล้ว ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น จิตวางเฉยหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จิตต้องอยู่ในระดับตติยฌาน จิตในช่วงนี้เป็นจิตที่เป็นประโยชน์ เราขยับจิตเพื่อที่จะสอดส่องมองไปในจุดไหน ไปพิจารณาตรงไหน เช่น จะมองไปที่สังขารร่างกายของเรา จะพิจารณาลมหายใจเข้าออกก็ดี หรือพิจารณาแยกธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ดี พิจารณาให้เห็นเป็นของปฏิกูลก็ดี หรือพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ก็ดี เมื่อจิตที่มีกำลังสมาธิ มีสติและปัญญา มันก็จะมองเห็นชัดเจน คือสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้องก็จะปรากฏขึ้นภายในจิตใจ เมื่อจิตมีความปัญญาความเข้าใจแล้ว จิตก็เข้าสู่ระดับวิปัสสนาคือการรู้แจ้งเห็นจริงในโอกาสต่อไป...

 


อารมณ์กัมมัฏฐาน

 

    อะไรคืออารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่ใจนึกคิด ในกัมมัฏฐานที่เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน มีอารมณ์สำหรับให้ใจเรานึกคิดอยู่ ๔๐ อย่างด้วยกัน คือ อสุภะ ๑๐ กสิณ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตววัตถาน ๑ และอรูปฌาน ๔ รวมแล้วเป็น ๔๐ อย่าง ทั้งหมดนี้เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน หมายถึงสิ่งที่เป็นเครื่องสำหรับให้ใจนึกคิด ปกติใจของเรานั้นคิดอยู่แล้ว ถึงเราไม่หาอารมณ์มาให้คิด ใจก็มีอารมณ์ที่ต้องคิดอยู่แล้ว สิ่งที่ใจคิดนั้นส่วนมากมักจะคิดไปในเรื่องอื่น คือคิดไปตามอำนาจของกิเลสที่มีอยู่ในจิตนั้นเอง บางทีก็นึกคิดไปในเรื่องที่เป็นเหตุให้เกิดความโลภหรือเกิดราคะความกำหนัดยินดี หรือบางครั้งก็คิดไปในเรื่องที่ทำให้เกิดความอาฆาตพยาบาทจองเวร มีการเกลียดชังหรือคิดไปในเรื่องที่ทำให้เกิดความลุ่มหลง ไม่รู้ตามความเป็นจริง นี่ส่วนมากอารมณ์ของจิตที่มันคิดไปตามธรรมชาติ มักจะคิดไปในเรื่องดังกล่าวมานี้

    เราสังเกตดูก็ได้ จิตของเราที่คิดในแต่ละวันคิดเรื่องอะไรบ้าง ส่วนมากจะคิดไปในเรื่องที่ทำให้เกิดกิเลสขึ้นมานั่นแหละ ก็เพราะกิเลสนั้นมีอยู่ในใจเราทุกคน อย่างเวลานี้เรากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ก็จะคิดไปตามกิเลสที่มีอยู่ในจิตของเรานั่นแหละ มันชวนเรานึกคิด นี้เป็นอารมณ์ของจิต เป็นอารมณ์ที่สำหรับให้จิตนั้นนึกคิด เช่นคิดเรื่องความโลภอย่าได้นั้นอยากได้นี่ อยากเป็นนั้นอยากเป็นนี้ แต่ละวันๆ คิดอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมชาติของจิตเป็นธรรมชาตที่คิดอยู่แล้ว ที่มันคิดตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้สึกตัวนั้น คิดแต่ในเรื่องที่ทำให้เกิดความหลงขึ้นมา หลงในอะไร ส่วนมาก็หลงอยู่ในตัวเรานี้เอง เริ่มต้นอยู่ตรงนี้ มันทำให้ยึดติด ทำให้เกิดการเข้าไปเกาะเกี่ยวเป็นอุปาทานต่างๆ

ความหลงสำคัญกว่าอย่างอื่น ความโลภ ราคะ โทสะ ความโกรธก็พอจะทุเลาเบาบางได้ แต่ความหลงนี้แหละที่เราคิดอยู่ตลอดเวลา จิตมันคลายไม่ออก เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงต้องใช้วิธีใหม่ คือหาเรื่องมาให้จิตของเราหัดนึกหัดคิดเสียใหม่

   สิ่งที่จะนำมาให้คิดนั้นควรให้เกิดประโยชน์ ท่านได้แบ่งเป็นหมวดๆ เอาไว้ เช่น อสุภะ ๑๐ เอามาเพื่อสำหรับจะหักล้างราคะ ความกำหนัดยินดี ปกติจิตมักชอบสวยชอบงาม ไปยึดติดในเรื่องความสวยงามหรือความพอใจ อาจไม่ใช่ในเรื่องรูปก็ได้ อาจไปพอใจในเรื่องเสียง กลิ่น รส สัมผัส ต้องดูที่จิตของเรามักจะไปพะวักพะวงนึกถึงแต่ในเรื่องเหล่านี้มาตลอด ถ้าปล่อยให้จิตคิดไปในเรื่องเหล่านี้ หนักๆ เข้าก็เพิ่มพูนกิเลสขึ้นมามันก็หลงติดอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้เอา อารมณ์เรื่องอสุภะมาพิจารณาให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งามไปเสีย

  การพิจารณาความไม่สวยไม่งามทั้งกายเราและกายเขา มีถึง ๑๐ ชนิดด้วยกัน แต่ทั้ง ๑๐ ชนิดนี้ก็คือการพิจารณาในกาย เช่น พิจารณาซากศพให้มองเห็นเป็นของปฏิกูลเน่าเปื่อย ซากศพที่กำลังขึ้นอืด ซากศพที่เป็นสีเขียว ซากศพที่ถูกตัดเป็นท่อนๆ เหล่านี้เป็นต้น จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการให้เราเปลี่ยนอารมณ์ความคิดใหม่นั่นเอง เพราะอารมณ์ที่เราคิดเป็นปกตินั้น มันเป็นอารมณ์ที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจของเรา เป็นอารมณ์ที่เพิ่มพูนกิเลสที่มีอยู่ในจิตของเรา เพราะฉะนั้น ท่านจึงเอาอารมณ์ชนิดนี้เข้ามาให้เรานึกคิดพิจารณา ที่เรียกว่า อสุภกัมมัฏฐาน

   อารมณ์กัมมัฏฐานอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กสิณ คือการเพ่ง เป็นวิธีการที่เราไม่ปล่อยให้จิตนึกคิดไปตามอำนาจที่มันอยากคิด จิตคิดฟุ้งซ่านหรือจิตคิดไม่แน่นอนอะไรต่างๆ เหล่านี้ ท่านให้เพ่งกสิณซึ่งมี ๑๐ อย่างด้วยกัน เช่น ให้เพ่งเป็นสี เช่น สีแดง ขาว เขียว หรือเพ่งลม เพ่งอากาศ เพ่งไฟ เหล่านี้เป็น ก็คือ ลักษณะของการสร้างอารมณ์ขึ้นมาใช้ตามอง และให้จิตของเรานึกอยู่ในสิ่งที่เรากำลังเพ่งอยู่ เป็นการสร้างอารมณ์กัมมัฏฐานขึ้นมาให้คิดใหม่นั่นเอง เพราะถ้าปล่อยให้จิตของเราคิดไป ก็จะไม่มีจุดจบ

   จิตของเรานี้มันคิดไม่มีขอบเขต คือไม่มีขอบเขตว่ามันอยู่ตรงไหน จุดหมายปลายทางของจิตอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ใครเคยรู้บ้างไหมว่า จิตของเรามีขอบเขตคิดอยู่ตรงไหน มันจำกัดขอบเขตไหม มีจำกัดเวลาไหม หรือมีเป้าหมายไหมที่จิตมันคิด ถ้าเรากำหนดดูแล้วจะมองไม่เห็นเลยว่าขอบเขตมันอยู่ตรงไหน และกำหนดไม่ได้ด้วยว่ามันคิดอะไร คิดอย่างไร และเป้าหมายของความคิดมันอยู่ตรงไหน มันไม่มีเลย

ตั้งแต่ลืมตาตอนเช้า จิตก็เริ่มทำงานแล้ว นึกคิดนั้นก็ไม่รู้คิดเรื่องอะไรบ้าง คิดไปถึงตรงไหน คิดเพื่ออะไร และคิดทำไม เราเคยตั้งคำถามและได้รับคำตอบไหม นี่คือจิตของเราเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น เราจึงต้องหาอารมณ์ คืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเข้ามาเพื่อที่จะได้นึกคิดและหาขอบเขตความคิดของเราเอาไว้ การเพ่งเป็นการสร้างขอบเขตให้จิตนั้นได้คิด เช่น แสงไฟ แสงเทียน สี ดอกไม้ เป็นต้น เพื่อให้เรารู้ว่าขอบเขตของความคิดนั้นอยู่เพียงนั้น อยู่ในจุดนั้น นี่เป็นวิธีการที่เราสร้างขอบเขตให้จิตขณะนึกคิด เราลองพากันสร้างขอบเขตให้จิตนึกคิดดู อย่างเรานึกพุทโธๆ หรือลมหายใจเข้าออก บางทีก็ไม่มีขอบเขตที่แน่นอน ก็เป็นแต่นึกคิดไปอย่างนั้น ฉะนั้นเราต้องหาอารมณ์อย่างที่เป็นกสิณคือเพ่ง เป็นการสร้างขอบเขตที่แน่นอน นี่เป็นวิธีการสร้างอารมณ์ชนิดหนึ่งขึ้นมา

    ส่วนอนุสสติ ๑๐ เป็นการระลึก เป็นวิธีระลึก ไม่ได้สัมผัสอย่างอสุภะและกสิณที่กล่าวมาแล้ว อสุภะใช้ตาช่วย คือตามองเห็นสิ่งปฏิกูล มองเห็นซากศพ ส่วนกสิณใช้ตาเพ่งเข้าไป ตาช่วยสัมพันธ์กับความรู้สึก แต่อนุสสติ ๑๐ นั้น เป็นการระลึกภายในอย่างที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ คือ อานาปาณสติ คือระลึกลมหายใจเข้าหายใจออก นี้เป็นวีการสร้างขอบเขตให้ความคิดของเราอยู่ในกรอบเช่นเดียวกัน แต่มันเป็นนามธรรม ไม่ใชรูปธรรม มันเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่ามันระลึกอยู่ภายในตัวเรา ไม่ได้ออกมาข้างนอก

    การพิจารณาอสุภะก็ดี กสิณก็ดี นั่นอยู่ภายนอก มันเป็นรูปธรรม ส่วนอนุสสติ ๑๐ นั้น เป็นนามธรรมที่เราระลึกอยู่ภายในใจ เช่น พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ หรือระลึกถึงบุญที่เราได้กระทำมา ระลึกถึงคุณเทวดา ระลึกถึงความตาย กำหนดลมหายใจ ระลึกถึงความสงบพระนิพพาน เหล่านี้เป็นต้น เป็นการสร้างอารมณ์ภายใน เอานามธรรมมาระลึก ซึ่งเราสังเกตดูว่ามันสอดคล้องกับจิตของเรา

    อารมณ์กัมมัฏฐานอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ เป็นการสร้างเมตตาจิต สร้างกรุณาความสงสาร มิทิตาพลอยยินดี และอุเบกขาความวางเฉย ขึ้นมาเป็นอารมณ์สำหรับให้ใจเราระลึกอยู่ ไม่ให้ออกไปคิดในเรื่องอื่น ส่วน อาหาเรปฏิกูลสัญญา เป็นอารมณ์กัมมัฏฐานอีกอย่างหนึ่งในการพิจารณาอาหารให้เห็นเป็นของปฏิกูล อีกอย่างหนึ่ง เป็นการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ภายในร่างกาย เรียกว่า จตุธาตววัตถาน อารมณ์กัมมัฏฐานอย่างสุดท้ายคือ อรูปฌาน ๔ ทั้ง ๔๐อย่างนี้เป็นอารมณ์สมถกัมมัฏฐาน

    ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็คืออานาปานสติ ทำไมท่านจึงนิยมในอานาปานสติมากกว่าอย่างอื่น เพราะอานาปานสตินี้เป็นอารมณ์กัมมัฏฐานที่สามารถใช้ได้ในทุกรูปแบบ เอาไปปราบกิเลสได้ทุกชนิดและสามารถปราบนิวรณ์ได้ เป็นอารมณ์กลางๆ คือไม่เน้นจุดใดจุดหนึ่ง ไม่เน้นไปในเรื่องความไม่สวยไม่งาม หรือการเพ่งกสิณ หรือในทางถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา คือไม่เน้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

    การเจริญอานาปานสติ พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออกนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของวัตถุ มันเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับจิตของเรา เพราะจิตของเรานั้นเป็นนามธรรม ประโยชน์ประการหนึ่งก็คือเราจะนำไปใช้ในการพิจารณาได้ง่าย อีกประการหนึ่งก็คือมันมีอยู่ภายในตัวของเราแล้ว ถ้าเอาอารมณ์อย่างอื่น เราจำเป็นที่จะต้องแปลงเสียก่อนอย่างเช่นเราเพ่งกสิณ เพ่งรูปจนมันติดตาเรา หลับตาก็เห็น นั่นคือแปลงจากรูปธรรมมาเป็นนามธรรม มันจึงจะเข้าไปผสมผสานกับจิตได้ แม้แต่อสุภะก็เหมือนกัน เพ่งจนมันเกิดความรู้สึกภายใน คือต้องเห็นด้วยตา เห็นเป็นนามธรรมแล้วก็ต้องนำเข้าไปพิจารณาภายในอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องแปลงสิ่งที่เราระลึกจากรูปธรรมมาเป็นนามธรรมก่อน แล้วค่อยนำไปพิจารณาภายในตัวของเรา ส่วนที่เรามาระลึกดูลมหายใจเข้าออกนั้นเป็นนามธรรมแล้ว จึงไม่ต้องแปลง และการที่เรามาระลึกพุทโธๆ ประกอบเข้าไปด้วยก็เป็นการสร้างตัวผู้รู้ให้เกิดขึ้น ประการสุดท้าย ลมหายใจเข้าออกนี้เป็นประโยชน์ที่จะนำไปใช้เมื่อเราเลื่อนระดับจิตขึ้นสู่วิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป

    กัมมัฏฐานดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานทั้งหมด สมถกัมมัฏฐานเป็นอุบายที่ทำใจให้สงบ อารมณ์กัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งจาก ๔๐ อย่างนั้นเป็นอุบายทำให้ใจเราสงบ จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ใจเราสงบได้ เรียกว่าสมถกัมมัฏฐาน หรือแม้เราจะไม่เอาอารมณ์ทั้ง ๔๐ อย่างนี้ จะเอาอารมณ์อย่างอื่นก็ได้ ขอให้ใจเราสงบ ก็ชื่อว่าได้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานแล้ว แต่ที่ท่านกำหนดมาทั้ง ๔ อย่างนี้เรียกว่าสมบูรณ์แล้ว ถ้าเอาอย่างดื่นมาอีก แม้จะเป็นสมถกัมมัฏฐาน แต่ต่อไปมันอาจจะไม่เป็นประโยชนคือไม่เป็นบาทให้เกิดวิปัสสนาได้ บางทีเรานำมาระลึกและจิตสงบอยู่ แต่จิตมันละมันวางไม่ได้ จิตก็อาจจะเพิ่มกิเลสขึ้นมาก็ได้ เพราะฉะนั้น อารมณ์กัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ อย่างนั้นจึงเป็นประโยชน์สำหรับจิตเรา คือเพื่อให้จิตของเราสงบ

ที่ว่าจิตสงบนั้น สงบจากอะไร ก็สงบจากนิวรณ์ ๕ ดังนั้น ถ้าเราอาศัยอารมณ์กัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง จนจิตของเราติดอยู่ในอารมณ์นั้น ความสงบก็เกิดขึ้น เมื่อความสงบเกิดขึ้นนิวรณ์ก็ดับไป ก็จบลงเพียงเท่านี้สำหรับหน้าที่สมถกัมมัฏฐาน ก็สิ้นสุดเพียงเมื่อจิตสงบ เมื่อนิวรณ์หมดแล้วก็ไม่มีงานต้องทำแล้ว ไม่รูจะทำอะไรต่อแล้ว อุปกรณ์ทั้ง ๔๐ อย่างนั้นก็เพื่อต้องการนำมาใช้ให้ใจเของเราสงบนั่นเอง

  หลังจากใจสงบแล้ว หมดหน้าที่ของสมถกัมมัฏฐานแล้วก็ต้องทำอะไรต่อไปอีก นั่นก็คือเราต้องทำวิปัสสนา เรามาพิจรณาดูว่าที่ใช้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั้นเป็นประโยชน์ไหมต่อการที่จะขึ้นไปพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญที่เรียกว่าวิปัสสนา คือการรู้แจ้ง ถ้าเอาอย่างอื่น บางทีอาจจะใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เช่น เพ่งกสิณ พอเป็นกสิณเสร็จแล้วก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ถ้าเราใช้อสุภะ มันก็ได้พิจารณาร่างกายของเรา ถ้าเราใช้ลมหายใจเข้าออก มันจะเป็นประโยชน์และก็มาเข้ากับมหาสติปัฏฐานพอดี เอาลมหายใจนี่แหละเข้ามาพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาต่อไปโดยโอปนยิโก คือน้อมเข้ามาสู่ตัวเรา เริ่มมาพิจารณาที่ตัวของเราโดยจะพิจารณาถึงชีวิตเราชีวิตเขา ทั้งเป็ฯคนและเป็นสัตว์ ว่าต่างก็ใช้ลมหายใจเข้าหายใจออกนี้ ถ้าปราศจากลมหายใจเข้าออกแล้ว ชีวิตเราชีวิตเขาทั้งคนและสัตว์มันก็จบลง นี่เราสามารถที่จะนำมาพิจารณาให้เกิดปัญญาได้ แต่ยิ่งจิตของเราสงบดิ่งลงไป จนจิตมันแนบสนิทแล้วเพียงแต่ขยับจิตคิดถึงลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ปัญญาก็เกิดขึ้นทันที เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะมองเห็นสาระแก่นสารของชีวิตได้ ว่าเราเป็นอยู่กันทุกวันนี้ได้ก็เพราะลมหายใจเข้าออกมีอยู่ เราโลภได้ โกรธได้ หลงได้ ยึดติดได้ เป็นเราเป็นเขาได้ เพราะมีลมหลานใจเข้าหายใจออกนี้แหละ

    สมมติว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออกมันหยุดไปสัก ๑๐ นาที ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบลงเพียงเท่านั้น มันไม่มีอะไรเลย ตัวเราตัวเขาก็จบลงเพียงเท่านี้ ตัวเราที่มีอยู่นี้มันก็ไม่ใช่ตัวเราอีกแล้ว มันไม่มีความรู้สึกอีกแล้ว ส่วนร่างกายเขาก็เอาไปเผาทิ้งหมด คนที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีการเกี่ยวข้องกันแล้ว ก็ตัดขาดกันไป มีลูกก็ตัดลูก มีสามีภรรยาก็ตัดสามีภรรยา มีญาติพี่น้องก็ตัดญาติพี่น้อง มีเพื่อนก็ตัดเพื่อนไป มันก็ตัดขาดจบลงเพียงเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ ก็หมดสิทธิ์อยู่เพียงเท่านั้น คือหมดสิทธิ์เมื่อหมดลมหายใจ

    นักปราชญ์สมัยก่อนนี้ท่านฉลาดสอนคน คือไม่สอนด้วยคำพูด แต่สอนด้วยการทำและการแสดงให้ดู โดยอาศัยคนตายสอนคนเป็น เมื่อคนตายเขาก็เอาไปรดน้ำศพ แบมือให้เทน้ำล้างมือ ก็เตือนนั่นแหละว่า ตอนเกิดมานั้นกำมือแน่น พอตายก็แบมือ เหมือนแสดงความบริสุทธิ์ คือไม่มีอะไรเอาไปด้วยเลย แม้แต่ขี้ไคลที่ติดมือก็ยังต้องล้างออกคือไปมือเปล่า นี้ท่านสอนคนเป็นให้สำนึกระลึกว่า จะมีอะไรก็แล้วแต่มันเอาไปไม่ได้ แม้ก่อนเผาก็เหมือนกัน อุตส่าห์เอาเงินไปใส่ในปากศพ ก็เป็นการเตือนอีกแหละว่าแม้แต่บาทเดียวก็เอาไปไม่ได้ จะกอบโกยไว้เถอะ แม้แต่บาทเดียวก็ไม่สามารถเอาไปด้วยได้ นี้เป็นการสอนให้เรารู้และเข้าใจตามความเป็นจริง เพียงแต่เราอาศัยลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ ก็ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ ทำให้ฉลาดขึ้นมาได้ ความเป็นจริงมันมีอยู่อย่างนี้แหละ แต่จิตของเรานั้นไม่มีโอกาสได้คิดเลย เพราะมัวแต่ประมาท มัวแต่หลงอยู่ เราไม่รู้เลยว่าชีวิตเรานี้มันสำคัญตรงไหน ไปคิดว่ามันสำคัญในเรื่องอื่น ไปสำคัญเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ความเป็นจริงแล้วชีวิตก็อยู่ตรงนี้เอง ถ้าลองหัดพิจารณาบ่อยๆ นึกบ่อยๆ แล้วจะเห็นว่าชีวิตก็อยู่เพียงแค่นี้ มันไม่มีอะไรมาก เพียงอาศัยลมหายใจเข้าออกอย่างเดียวเท่านั้น ก็สามารถทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ จิตที่มันเคยโลภจนเกินไปก็ลดปริมาณลง จิตที่เคยอาฆาตพยาบาทจองเวรก็ลดลง จิตที่เคยหลงติดสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็จะคลอยออกได้ เพราะฉะนั้น เราอาศัยลมหายใจเข้าออกนั้นทำให้จิตสงบได้ เมื่อจิตสงบแล้วก็อาศัยสิ่งนี้แหละเป็นสะพานเชื่อมไป

    นอกจากเราจะอาศัยลมหายใจเข้าออกทำให้เกิดปัญญาแล้ว เรายังอาศัยสิ่งอื่นอีกในตัวเรานี้ เฉพาะในตัวเราที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ เราใช้เป็นอุปกรณ์ให้เกิดปัญญาได้ทั้งนั้น ปัญญาไม่ต้องวิ่งไปหาที่ไหน ไม่ต้องไปศึกษาที่ ไม่ต้องศึกษาในตำราในคัมภีร์หรือครูบาอาจารย์ที่ไหน ตำราก็อยู่ในตัวของเรานี้แหละ พระไตรปิฎกก็อยู่ในตัวของเรานี้ ครูบาอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน อยู่นในตัวของเรานี้แหละ พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรครมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกโดยพิสดารมีตั้ง ๘๔,๐๐ เรื่อง แต่ย่นยอ่ลงมาก็มีเพียง ๓ เรื่อง คือศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าย่นย่อลงมาอีกก็เหลือเพียงเรื่องเดียว อยู่ที่กายเรานี่แหละ นี่พระไตรปิฎกอยู่ที่นี่ ไปศึกษาเถิด ดูไปเถิด อะไรอยู่ตรงไหน ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดปัญญาทั้งนั้น เป็นครูให้เราทั้งนั้น เฉพาะลมหายใจเข้าออกถ้าเราพิจารณาดูแล้วทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง นอกจากลมหายใจแล้วทุกส่วนในร่างกายนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาได้ทั้งนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ในตัวเรานี้แหละก็ทำให้เราหลง เพราะฉะนั้นในเมื่อจิตของเราสงบลงพอสมควรแล้วก็พยายามเอาที่ตัวของเรามานึกคิดพิจารณา ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ที่ไหนก็อยู่ที่ตัวของเรา ก็ดูซิ มีอะไรบ้าง อะไรที่มีอยู่ในตัวเของเราทั้งหมด ที่แข็งๆ ก็เป็นธาตุดิน ส่วนธาตุน้ำ ลม ไฟ ก็เอามานึกคิดเอาพิจารณาส่วนไหนของร่างกายก็เอามานึกคิดพิจารณาได้ทั้งนั้น เอาผม ขน ฟัน เล็บ หนัง กระดูก ตับ ไต อวัยวะต่างๆ เอามาพิจารณาได้ทั้งนั้น นี่ธรรมะมันอยู่ที่นี่ เอามาสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นได้ที่นี่ ส่วนการอ่านตำรา ฟังครูบาอาจารย์นั้นเป็นเครื่องช่วยสนับสนุนให้เรารู้และเข้าใจเท่านั้นเอง หรือเป็นผู้ชี้ว่าต้องดูตรงนี้ พิจารณาตรงนี้ ไม่ได้ให้พิจารณาที่อื่น คิดไปในที่อื่น ไม่ให้ดูที่อื่น มาดูตรงนี้ ฉะนั้น เอากายนี้แหละมาเรียนกัน เรียนรู้จบในกายนี้ก็เป็นอันว่าจบคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ในกายทั้งหมด ฉะนั้นเราพากันมาศึกษาดูวันหนึ่งๆ เราก็จับเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมาสักชิ้นขึ้นมาพิจารณา เช่นลมหายใจก็ได้ หรือแม้แต่เราจะมองในอีกแง่หนึ่งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงของสังขารร่างกาย จะนึกคิดไปในเรื่องความที่เราจะต้องแก่ เจ็บ ตาย ต้องพลัดพรากจากกัน มันมองไปได้ทั้งนั้น มันมีอยู่ในกายนี้ทั้งนั้น แต่จิตเราไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้เลย จิตไม่ได้มีโอกาสได้คิด เราสังเกตดูวันหนึ่งๆ จิตของเราเคยคิดเรื่องอย่างนี้สักกี่ครั้ง เคยคิดไหม ลมหายใจเข้าออก ถ้าจบลงแล้วจะเป็นอย่างไร เคยคิดไหมว่าเราแก่ขนาดไหน เราเจ็บขนาดไหน เราจะตายเมื่อไหร่ หรือส่วนของร่างกายเรามีกี่ชิ้น และเมื่อมันแยกออกจากกันแล้ว ความเป็นเราเป็นเขามันจะเป็นอย่างไร จิตเราเคยคิดเวลาคิดถึงเรื่องเหล่านี้บ้างไหม ดูแล้วไม่มีโอกาสได้คิดเท่าไหร่ ที่คิดนั้น มักจะคิดเพื่อที่จะทำให้เกิดการยึก การถือ การแบก การหามอยู่อย่างนั้นแหละ ในที่สุดปัญญาก็ไม่เกิด ลองกำหนดดูว่าวันหนึ่งเราเคยเอาเรื่องในตัวเราไปคิดไหม ไม่ค่อยมีหรอก ถ้าเอาไปก็มีคำว่าเรา คำว่าเขาเท่านั้นเอง คิดก็คำว่าเรา เขา ทันที อันนั้นเขาอันนี้เรา อันนั้นของเขา อันนี้ของเรา คิดถึงลูกหลานบ้านช่อง เคยสังเกตไหม จิตของคนเราก็มีเพียงเท่านี้ วันหนึ่งๆ ก็วกไปวนมาอยู่แต่เพียงเท่านี้ วกวนอยู่กับคำว่าเราเขานี่แหละ

    นี่คือจิตที่คิดโดยปกติคิดอย่างนี้ และในที่สุดก็มองไม่เห็น ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ลองพากันทำจิตให้สงบให้รวม แล้วลองพยายามเอาส่วนของร่างกายของเราส่วนใดส่วนหนึ่งมาคิด ถ้าคิดบ่อยๆ เข้าปัญญาก็จะเกิด พอปัญญาเกิดแล้วมันจะไม่เข้าไปยึดเลย ไปยึดมันทำไม ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีสาระแก่นสารอะไร และก็รู้ชัดอีกด้วยว่าถ้ายึดแล้วมันก็เป็นทุกข์ เราพิจารณาดูก็ได้ ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นถ้าเราไปยึดไว้ เดี๋ยวสิ่งที่ตามมาก็คือทุกข์ ถ้าไปยึดว่าตัวเรา เขาว่าเรา เขาดูถูกเรา เขาเหยียดหยามเรา เขาทำของเราเสีย นั้นเป็นลูกของเรา นั้นญาติของเรา เราต้องเป็นห่วง ทำให้จิตของเราก็อยู่แค่นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อไรจิตเราจะรู้ตามความเป็นจริงได้เล่า มันรู้ไม่ได้ เพราะจิตมัวแต่ไปคำว่าเขาว่าเราอยู่ตลอดเวลา พยายามตั้งสติให้ดี เวลาฟังพยายามทำความเข้าใจ พยายามรับรู้ บางคนนั่งไปสัปหงกไปหลับไป เลยไม่รู้ว่าพูดเรื่องอะไร ปัญญาเลยไม่มี ลักษณะนี้มันหลง จิตมันมืดบอด เพราะฉะนั้น พวกเรานักปฏิบัติธรรมเมื่อเราฝึกจิตจนสมควรแล้ว พยายามหัดนึกหัดคิดบ่อยๆ ไม่ต้องเอาเรื่องอื่นมาคิด เอาแต่เรื่องภายในตัวของเรานี่มาคิดนั่นแหละ จิตของเราก็จะมีปัญญา คือมีสติปัญญาขึ้นมา พอมีปัญญาขึ้นมาแล้วมันก็เห็นชัดเจน เห็นชัดเจนแล้วก็ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งทุกข์กังวลและแบกอะไรอีก

    คราวนี้ลองมานึกถึงตัวของเรา ความรู้สึกของเรามันเหมือนกับตัวเราขยายเต็มโลกอยู่คนเดียว ความรู้สึกมันมักจะเป็นอย่างนั้น ความเป็นจริงแล้ว ตัวเราแต่ละคนๆ ไม่มีอะไรมากเลย และมันก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมายเลย มองดูตามความเป็นจริงก็มีความยาว ๑ วา ความกว้าง ๑ ศอกและหนา ๑ คืบเท่านั้นเอง นี่คืออาณาจักรของเราแต่ละคน แต่ความรู้สึกของเรามันไม่ใช่เพียงเท่านี้ ความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นมันขยายออกไป เห็นไหมความรู้สึกนี่มันสร้างอาณาจักรขึ้นมา มันคล้ายๆ โลกนี้ทั้งโลกเราแบกอยู่คนเดียว เราคนเดียว เรายิ่งใหญ่อยุ่คนเดียว นี่คือความรู้สึกของเราแต่ละคน เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว จิตมันจะรู้ความเป็นจริงไม่ได้ ความเป็นจริงมันไม่มีอะไร ลองฝืนความรู้สึกของเรา แล้วมองดูให้มันชัดเจน มันมีอะไร ไม่มีอะไรมาก ก็มีลมหายใจเข้าออก ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็เท่านั้นเอง แยกอีกอย่างหนึ่งก็มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เท่านั้น ความรู้สึกเหล่านี้มันเคยเกิดขึ้นภายในจิตเราไหมในส่วนลึกๆ น่ะ มันไม่เคยมี มันไม่มีหรอก แม้แต่เรานึกเราคิด ก็นึกไปตามสัญญาเท่านั้น ไม่ใฃ่ความรู้สึกที่เกิดจากความเข้าใจหรือความเห็นจากจิต

    ตราบใดจิตมันยังหลงอยู่อย่างนี้ มันก็มองไม่เห็นหรอก แต่ถ้าเราสร้างความรู้สึกอย่างนี้บ่อยๆ มองบ่อยๆ ในที่สุดพอจิตมีปัญญามันก็ไม่มีอะไร ตัวเราก็ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ตัวคนอื่นก็ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม แม้แต่สัตว์เองมันก็มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนกัน ต้นไม้อาจแตกต่างจากมนุษย์และสัตว์บ้าง แต่เมื่อมันถึงกาลถึงเวลามันก็แตกสลายไปเหมือนกัน มันไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืนเลย ถ้าเราลองสร้างความรู้สึกให้มันธรรมดาๆ ให้มันง่ายๆ อย่างนี้ เวลาเรานึกเราคิดมันก็ธรรมดาๆ อย่างที่เราสวดกันว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ท่านก็บอกแล้วว่ามันเป็นธรรมดา มันไม่มีอะไร มันไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไรเลย ความแก่มันก็ธรรมดาๆ ความเจ็บ ความตาย ก็ธรรมดา แต่ความรู้สึกของคนเรานี้ไม่ใช่ธรรมดา มันสร้างความรู้สึกว่าไม่ใช่ธรรมดาแล้ว ถ้าแก่ไม่ใช่ธรรมดาแล้ว ถ้าเจ็บก็ไม่ใช่ธรรมดาอีก ยิ่งเรื่องตายด้วยแล้วยิ่งไม่ใช่ธรรมดาแล้ว ที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดานี้ จิตของเราต่างหาก จิตมันไม่รู้ จึงได้สร้างเรื่องขึ้นมาว่าไม่ใช่ธรรมดาแล้ว อย่างเช่นเราเจ็บปวด เวลานั่งสมาธิ เมื่อนั่งนานๆ มันก็เจ็บปวด ก็บอกว่าไม่น่าจะนั่งนานเพราะมันทำให้เจ็บปวดมาก ก็มันเป็นเรื่องธรรมดาๆ นั่นเอง เมื่อเกิดมาแล้วมันก็หนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่อยากให้มีก็คือต้องไม่ตาย ไม่เกิด เมื่อใดจิตของเราจะคิดเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาได้ เมื่อจิตคิดเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ไม่ต้องมาทุกข์กังวลเรื่องอะไรเลย ที่เรากังวลเพราะเราคิดว่ามันไม่ธรรมดา คิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติเสีย เป็นเรื่อ งพิเศษขึ้นมา ใครสร้างความพิเศษขึ้นก็คือใจของเราเอง ใจที่มันไม่รุ้พยายามสร้างความพิเศษขึ้นมา เราก็เลยไปยึดไปติดอยู่อย่างนั้น นี่มนุษย์เราที่อยู่ในโลกมันเป็นอย่างนี้ พอเราสร้างเรื่องไม่ธรรมดาขึ้น มันเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาก็ไปกังวลกับมัน ทุกข์อยู่กับมัน ความเป็นจริงแล้วมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เรารักษาไป รักษาได้ก็หาย มันไม่หายมันก็ธรรมดาของมัน นี่ถ้าหากว่าจิตเรารู้ มันจะมองอะไรก็จะมองเป็นเรื่องธรรมดาๆ ถ้าหากจิตมันไม่รู้ก็จะมองเป็นจริงจัง มองเป็นเรื่องพิเศษ เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เหมือนที่เรามองในตัวเราที่มีความยิ่งใหญ่มาก ยิ่งใหญ่นั่นแหละคือความไม่รู้ ทิฏฐิมานะ  การยึดการถืออยู่ในนั้นแหละ ถ้าใครมีมากเท่าไหร มันสร้าง มันพองเต็มโลกเลย ถ้าเราลดลงๆ จะแฟบไม่มีอะไร ก็จบลง

     ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการสร้างปัญญาและความรู้ให้เกิดขึ้น แต่การที่เราจะสร้างความรู้ ความฉลาดให้เกิดขึ้นได้ดีที่สุดก็คือ เราต้องฝึกจิตของเราให้สงบก่อน ให้สงบไปด้วยและก็คิดไปด้วย ถ้าจิตไม่สงบแล้วก็จะไม่เห็น เพราะฉะนั้น ในสมถกัมมัฏฐานทั้งหมดที่กล่าวมาโดยกว้างๆ ในวันนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อทำให้จิตของเราสงบก่อน เมื่อมันจบแล้วก็พยายามใช้ความสงบนั้นคิดให้เกิดปัญญา สิ่งที่จะให้เกิดปัญญาก็ไม่ต้องไปหาที่ไหน อาศัยกายเรานี่แหละ เอาส่วนไหนก็ได้ เกิดปัญญาทั้งนั้น

     การปฏิบัตะรรมนั้นมี ๒ จุด จุดหนึ่งคือทำจิตให้สงบ เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน อีกจุดหนึ่งคือใช้ให้เกิดปัญญา เรียกว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน การใช้ปัญญานั้น เราเอาอะไรมาเป็นอารมณ์และเป็นอุปกรณ์ในการพิจารณา ก็เอาตัวเรานี้แหละเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ เช่นลมหายใจเข้าออก ก็นำไปคิดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ เวลานอนก็ลองสมมติว่าถ้าเราหมดลมหายใจแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่กล้านึก กลัวมันจะหมดจริงๆ บางคนไม่กล้านึก ดูซิขนาดนั้น ถ้าเรานึกแล้วจิตมันจะดับหรืออาจจะหยุดเลยเลิกคิดทันที ถ้าหมดลมหายใจแล้วเราจะเป็นอย่างไร เราลุกขึ้นมาไม่ได้อีกแล้วแล้วใครจะเลี้ยงลูกหลานเราล่ะ แล้วลุกไปเลี้ยงได้ไหม ถ้าขืนลุกไปเขาก็ไม่ได้เราเลี้ยงแล้ว เขาก็ไล่ออก นี่ให้เรานึกคิดดูบ้าง มิฉะนั้น เราก็ลองพิจารณาดูก็เห็นว่าตัวเราตัวเขา แล้วทำไมมันถึงได้พองโตคับโลก ลองคิดให้มันลีบลงมา ในที่สุดจะเหลืออะไร ก็แค่ความยาว ๑ วา ความกว้าง ๑ ศอก ความหนา ๑ คืบเท่านี้แหละ นี่ตัวเราก็เพียงเท่านี้ ไม่ใหญ่ไม่โตไม่พองอะไรหรอก นี่ก็คือเป็นหัดทำความรู้สึกของเราให้เล็ก อย่าทำความรู้สึกให้ใหญ่โต ถ้ามันใหญ่แล้วมันก็พองทันที ทิฏฐิมานะก็จะพองขึ้นด้วย ทำตัวให้เล็กๆ ธรรมดาๆ ไม่มีใครวิเศษวิโสมากกว่ากัน วิเศษขนาดไหนก็แล้วแต่ มันก็เหมือนกันทั้งนั้น พอพูดถึงจุดนี้ ทำให้นึกถึงที่เขาเขียนไว้ที่ท้ายรถว่า “เอ็งจะใหญ่แค่ไหน ในที่สุดเอ็งก็ต้องเล็กกว่าโลง” มันทำให้เกิดความรู้สึกเป็นคติ ถ้าขืนใหญ่กว่าโลง มันก็ใส่โลงไม่ได้ ฉะนั้น จะใหญ่ขนาดไหนก็คือเล็กกว่าโลง นี่พยายามสร้างความรู้สึกอย่างนี้ สร้างความรู้สึกของเราให้จิตเรามองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ในที่สุดความรู้สึกของเราก็จะค่อยๆ แฟบลง ทิฏฐิมานะก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงตามลำดับ

 

 

 

       

วิดีโอ

WatpaLA-Youtube

Copyright ©2554 วัดป่าธรรมชาติ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา