E-Books

ค้นหา

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
5551127

whosonline

มี 10 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

สารบัญ

 

เรื่อง..นิวรณ์ ๕

            ประนมมือขึ้น แล้วว่าตาม “ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ คุณความดีทุกประการ จงมาดลบันดาล ให้จิตของข้าพเจ้าจงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ พุทโธ พุทโธ” เอามือลง

นั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือขวาหงายทับมือซ้ายวางไว้บนตัก ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น  กำหนดลมหายใจเข้าว่า พุท หายใจออกให้นึกว่า โธ ให้นึกพุทโธ ๆ อยู่ในใจพร้อมกับหลับตา พยายามทำความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ให้เป็นปกติ แม้แต่ส่วนของร่างกายของเราทุกส่วนก็พยายามทำความรู้สึกให้เป็นปกติ อย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกร็งเกินไปหรือตึงเครียดเกินไป ร่างกายทุกส่วนนั้นมีความรู้สึกเหมือนกับเราไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้ามันตึงตรงไหนมีความรู้สึกมาตรงไหนก็พยายามผ่อนคลายในตรงนั้น บางทีการนั่งสมาธิเรามักจะตั้งความรู้สึกให้จริงจังมากจนเกินไป จนกระทั่งร่างกายมีความตึงเครียด พอความตึงเครียดเกิดขึ้น ความสำคัญมั่นหมายการไปยึดไปถือในส่วนของเราก็เกิดขึ้นสิ่งที่ตามมาก็คือ ความเจ็บปวดและความเครียด ฉะนั้น พยายาม ทำความรู้สึกให้เป็นปกติให้ได้

     ในเรื่องความคิดก็เหมือนกัน อย่าพยายามไปบังคับความคิดให้มากจนเกินไป หรืออย่าปล่อยความคิดออกไปตามสิ่งที่ต้องการจะคิดพยายามอาศัยความรู้สึกมาจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น สร้างความรสุข ความเพลิดเพลินกับที่เรามากำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกเพียงเท่านั้น กำหนดดูไป จุดประสงค์ของการทำสมาธิ ความเป็นจริงก็มีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ ทำอย่างไรให้จิตของเรานั้นสงบลงได้

จิตที่จะสงบได้นั้น ก็เพียงแต่เราเอาความคิดมาจับอยู่ที่อารมณ์ที่กำลังระลึกอยู่ อย่างเช่นเวลานี้ เราระลึกอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เราก็พยายามทำความรู้สึกนึกคิดของเราให้จับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น เราก็ทำเพียงเท่านี้ ความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวงมารวมอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก พยายามอย่าให้ความนึกคิดเหล่านั้นหลุดออกไปจากอารมณ์ที่เรากำหนดคือลมหายใจเข้าลมหายใจออก

  เมื่อจิตของเรามาจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้ติดต่อกันโดยไม่มีการขาดตอน ยิ่งอยู่นานเท่าไรจิตเราก็ยิ่งมีความสงบได้นานเท่านั้น เริ่มต้นจิตของเรากำหนดรู้ เวลาลมหายใจเข้าก็จะทำหน้าที่รู้ เวลาลมหายใจออกจิตก็ทำหน้าที่รู้ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกให้ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสาย ถ้าขาดสายเมื่อไรก็แสดงว่าจิตเรายังไม่รวม เพราะยังมีการขาดตอน เราระลึกลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ ไม่ไปนึกเรื่องอื่น ถ้านึกเรื่องอื่นอีกจิตของเราจะมีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก ความเป็นสมาธิของจิตก็จะขาดไป แต่ถ้าเราพยายามกำหนดรู้อยู่ตรงนั้นแหละ เวลาลมหายใจเข้า เราก็รู้ ลมหายใจออกเราก็รู้ เพื่อต้องการให้จิตของเรามั่นคงอยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกมากยิ่งขึ้น เราก็พยายามสังเกต สังเกตลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้าหายใจออกยาวหรือสั้น เราก็กำหนดรู้ เช่น เราพยายามดูลมหายใจเข้าว่าใช้เวลานานประมาณเท่าไร หายใจออกใช้เวลานานประมาณเท่าไร เราก็ทำความรู้อยู่อย่างนั้น

    ถ้าจิตของเราสนใจและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เรากำลังกำหนดรู้อยู่นี้ โดยไม่ให้จิตละไปสนใจในเรื่องอื่นหรือระลึกเรื่องอื่น นี่ก็แสดงว่าจิตเราเริ่มมีฐานะเป็นที่ตั้ง ความนึกคิดของเราก็กำลังมารวมอยู่ที่ฐาน และเมื่อรวมอยู่นาน ๆ เข้าความเป็นสมาธิก็เกิดขึ้น เพราะคำว่าสมาธิก็คือการที่จิตระลึกมั่นคงอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นเอง คือเมื่อนึกถึงสิ่งใดก็ตาม จิตนั้นจะไม่เปลี่ยนความนึกคิดออกไปสู่สิ่งอื่น จิตนั้นก็เป็นสมาธิมั่นคงอยู่กับสิ่งที่กำหนดรู้นั้น นี่คือจิตเริ่มต้นของการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ

สิ่งที่นำมาประกอบให้จิตเกิดสมาธิเร็วขึ้นมีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน คือ

        (๑) สติความระลึกได้ ทำหน้าที่ระลึก คือนึก

    (๒) สัมปชัญญะ คือรู้ตัว ตัวสตินั้นทำหน้าที่ระลึก สัมปชัญญะนั้นรู้ตัว เช่น เราระลึกลมหายใจเข้าลมหายใจออก และเราก็รู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังนั่งสมาธิอยู่ กำลังฝึกจิตอยู่ และกำลังระลึกลมหายใจเข้าออกอยู่ คือทั้งสติและสัมปชัญญะนั้นจะทำหน้าที่ต่อเนื่องกัน ระลึก แล้วก็รู้ตัว ๒ อย่างนี้ควบคู่กันไป

       (๓) อาตาปี ความเพียรพยายาม การที่สติและสัมปชัญญะจะมีความเข้มข้น มีปริมาณมากขึ้น ต้องอาศัยความเพียรพยายามคืออาตาปี เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ถ้าเรามีความเพียรพยายาม มีความตั้งใจสูง สติและสัมปชัญญะก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นได้ทั้ง ๒ อย่าง ตั้งใจกำหนดนึกรู้อยู่เฉพาะลมหายใจเข้าลมหายใจออกเท่านั้น พยายามไม่ให้จิตของเรานั้นระลึกไปในสิ่งอื่น ให้จับอยู่ที่ตรงนั้น

     สติ สัมปชัญญะ และอาตาปี เป็นเครื่องเกื้อหนุน อุดหนุน และสนับสนุนให้จิตเป็นสมาธิยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราขาดธรรมะข้อใดข้อหนึ่งเข้ามาสนับสนุนแล้ว จิตของเราก็จะมีสมาธิได้ช้าหรืออาจจะไม่มีสมาธิเลยถ้าเราไม่พยายามระลึก เวลาเรานั่งเราก็นั่งไปเฉย ๆ บางครั้งเราก็นั่งเผอเรอพอเผลอไปเดี๋ยวเดียวเราหลับก็มี บางทีนั่งเฉยอยู่เผลอไปเดี๋ยวเดียวจิตมันคิดไปไหนก็ไม่รู้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร เพราะเราขาดอาตาปีคือความพากเพียรพยายามนั้นเอง ฉะนั้น ทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิ เราต้องอาศัยคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้มาเป็นเครื่องสนับสนุน คือ ต้องมีสติ ความระลึก สัมปชัญญะ ความรู้ตัว และ อาตาปี ความเพียรพยายาม สนับสนุนไปการประพฤติปฏิบัติสมาธิภาวนาก็จะเจริญยิ่งขึ้น แต่ที่เราไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะเราไม่พยายามเอาคุณธรรมดังกล่าวแล้วมาเป็นเครื่องสนับสนุนเวลานั่งเราก็ปล่อยให้นั่งไปตามธรรมดา ความเพียรความพยายามในการที่จะกระตุ้นให้จิตของเรานั้นมีความระลึกมีความรู้ตัวอยู่ไม่ค่อยมี อาตาปี นี้เป็นคุณธรรมที่สำคัญให้จิตของเราเป็นสมาธิยิ่งขึ้น

    คราวนี้มาพูดถึงขั้นตอนต่อไป คือขั้นตอนตรงที่เมื่อจิตเราเป็นสมาธิ ก่อนที่จิตจะเป็นสมาธินั้น เราควรจะกำจัดอะไรออกไป และอะไรที่เป็นอุปสรรคไม่ให้จิตของเราเกิดสมาธิได้ หลักที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทรงแสดงไว้คือ นิวรณ์ ๕ เป็นเครื่องปิดกั้นจิตไม่ให้เกิดความสงบได้ นิวรณ์ทั้งห้านี้เป็นตัวมาทำให้จิตของเรากระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา นิวรณ์ ๕ ได้แก่

     ๑. กามฉันทะ คือ จิตที่มีความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจในกามคุณ กามคุณนั้นหมายถึง พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เราดูสภาวะจิตของเรา ถ้าหากจิตมีความพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา จิตนั้นจะอยู่เป็นปกติไม่ได้ จะมีแต่การดิ้นรน กระสับกระส่ายและหวั่นไหว จิตพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสก็ดี ความเป็นปกติของจิตนั้นก็จะเสียไป เพราะความพอใจเกิดขึ้น มันก็จะดิ้นรนหา

   เราสังเกตดูก็ได้ ถ้าเราพอใจในรูปอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นผู้หญิงผู้ชายหรือรูปอะไรที่เห็นด้วยตา ถ้าพอใจแล้ว จิตก็เกิดความอยาก ความต้องการ ถ้ามีความอยาก ความต้องการ จิตก็ดิ้นรนเพื่อจะหามาสนองความอยาก ความต้องการนั้น ในการดิ้นรนนี้ มันเป็นเหตุทำให้จิตนั้นวิ่งออกจากฐานของความเป็นปกติ แม้ในเรื่องเสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็เช่นเดียวกัน เหล่านี้เป็นเครื่องทำให้จิตนั้นวิ่งเข้าไปหา และการวิ่งเข้าไปหานี้ มันก็ไม่เป็นปกติแล้ว มันวิ่งอยู่ตลอดเวลา ถ้าเกิดหามาได้ จิตก็จะไม่สงบ เพราะจิตมันเกิดความหวาดระแวง เกิดความกลัวขึ้นมา คือกลัวว่าสิ่งที่ได้มานั้นมันจะหายไป จะหลุดไปหรือสูญเสียไปนี้เป็นเหตุทำให้จิตของเราผิดปกติไป และถ้าเผื่อว่าสิ่งที่เราได้มานั้นหลุดไป ก็ยิ่งทำให้จิตนั้นผิดปกติมากยิ่งขึ้น นี่เราก็พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทำให้จิตเราขาดความเป็นปกติ จิตของเราจึงเข้าสู่ความสงบไม่ได้

    ดูชาวโลกที่เราเห็นกันอยู่ ต้องดิ้นรนและแสวงหา ไม่มีความสุข ความสงบเท่าไร สังเกตดูหามาก็เพื่อสนองความอยากที่เกิดขึ้นในจิต แต่เรามองทั่ว ๆ ไป เหมือนกับไม่ใช่เป็นความอยาก เหมือนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาเพื่อสนองความอยากความต้องการอีกด้วย มันจึงทำให้จิตของเรานี้ไม่มีความเป็นปกติ มันถึงได้ดิ้นรนไป ดิ้นรนจนกระทั่งจิตนี้เกิดความเคยชิน จนเวลาเรามาฝึกหัดให้จิตเราสงบอย่างนี้ มันก็ยังดิ้นรนเพื่อที่จะออกไปหาสิ่งที่มันเคยชินอยู่นั้น อย่างพวกเราที่เข้ามาสู่การปฏิบัติอย่างนี้ เราจะสังเกตดูได้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งดังกล่าวมานี้พวกเราก็ค่อยลดค่อยละกันแล้ว ความพอใจในกลิ่น รส สัมผัส เราก็ได้ลดละมามากแล้ว แต่จิตนี้มันก็ไม่วายที่จะดิ้นรนออกไปแสวงหา

    ดูภายในจิตที่ลึก ๆ ในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรส เรายังติดอยู่ ทำให้จิตเราต้องวุ่นวายต้องแสวงหา อย่างรสอาหาร ความเป็นจริงและความต้องการของร่างกาย ก็ไม่ต้องการความอร่อยที่ไหนมารับประทาน เราต้องการเพียงให้ร่างกายอยู่ได้เท่านั้น แต่ที่เราปรุงแต่งรสต่าง ๆ นั้น ก็เพื่อมาสนองความอยากของใจเท่านั้นเอง ที่จริงก็คือสนองลิ้น ไม่ได้สนองร่างกายทั้งหมด ฉะนั้น จิตของเราก็ไม่มีความสงบ ได้แต่คิดอยู่ว่าเราจะทำอย่างไร คือ จิตจะดิ้นรนอยู่อย่างนั้น เราต้องเสียเวลา ปล่อยให้จิตดิ้นรนไปวันหนึ่ง ๆ เสียเวลาไปมิใช่น้อยตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาจนถึงเย็น เราเสียเวลากับวัตถุเหล่านี้มาก ยิ่งชาวบ้านด้วยแล้วจิตไม่มีโอกาสเป็นอิสระเลย เราจะสังเกตดูเรื่องรูป บ้างก็แสวงหามา พยายามหาเสียงดี ๆ ต้องซื้อ ต้องลงทุน ดิ้นรนหามาสนอง กลิ่น ก็ดูซิ ประดับประดาตบแต่ง ลงทุนซื้อเครื่องสำอางต่าง ๆ ในส่วนร่างกายก็หามาเพื่อตกแต่งประดับประดาอะไรต่าง ๆ เรามาดูชาวโลกเขา เขาทุ่มเทชีวิตจิตใจที่เขาทำกันอยู่นั้น ถ้ามาบวกลบคูณหารแล้ว ส่วนมากก็เสียไปในเรื่องกามคุณเกือบ ๖๐-๗๐ % ของรายได้ ที่จะให้ร่างกายจริง ๆ ก็เพียง ๔๐-๓๐ % เท่านั้น เมื่อเป็นอย่างนี้จิตเราก็สงบไม่ได้ ต้องดิ้นรนต้องแสวงหามา ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จิตยังไปเกิดความกำหนัดยินดีจนกระทั่งมีความทุรนทุราย จึงยิ่งหนักยิ่งเพิ่มปริมาณเข้าไปอีก ในสภาพจิตที่สงบไม่ได้เพราะต้องดิ้นรนหา นี่แหละคือตัวที่มาทำให้จิตของเรากระเพื่อม เพราะฉะนั้นจึงว่า กามฉันทะ ความพอใจในกาม กามคุณทั้งห้า ในรูปรส เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหตุทำให้จิตเรานั้นขาดความปกติ ทำให้จิตหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องวิ่งไปเพื่อที่จะนำมาสนองความอยาก ความต้องการและความใคร่ หาได้ก็ไม่สงบอีก ไม่มีความสงบเลย ถ้าตราบใดสิ่งนี้ยังมีอยู่ในจิตของเรา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราไม่สามารถที่จะกำจัดมันออกจากจิตเราได้จิตจะสงบไม่ได้

     ๒. พยาบาท เราลองดูจิตที่มีความพยาบาท มีการจองเวรอาฆาตเคียดแค้นชิงชัง จิตที่สงบไม่ได้ จิตที่เป็นปกติไม่ได้

จิตของเราถ้าหากว่าเรานึกคิดต่อบุคคลใดแล้วเกิดความไม่พอใจขึ้นมา จิตนั้นจะเผลอไม่ได้ต้องครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา คือจะต้องนึกโกรธนึกไม่พอใจ อาฆาตเคียดแค้นชิงชัง จิตชนิดนี้ เราจะสังเกตดูว่า มักจะมีความรู้สึกขุ่นและเร้าร้อนอยู่ภายในตลอดเวลา ซึ่งพวกเราก็มีกันทั้งนั้น เมื่อมีความไม่พอใจขึ้นมา จิตก็จะคิดผูกโกรธพยาบาทจองเวร คือผูกเอาไว้ในใจนั้น คลายไม่ได้ ความไม่พอใจที่ผูกไว้ในจิตของเรา คือจิตที่ปรารภบุคคลอื่นที่เขามาทำให้เราไม่พอใจ

     อย่างเราไม่พอใจใคร จิตจะทำหน้าที่เข้ามาผูกเอาไว้ คือนึกไม่พอใจอยู่อย่างนั้น สลัดออกไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ มันมัดอยู่อย่างนั้น เคยสังเกตดู จิตชนิดนี้จะเริ่มต้นจากความไม่พอใจไม่สบอารมณ์ และส่วนมากมักจะเกิดขึ้นที่เห็นชัดๆ จากตาที่เห็นรูปและหูที่ได้ยินเสียง ส่วนกลิ่น รส สัมผัสนั้น มันมีแต่ละเอียดลงไป มองไม่เห็นชัด คนที่จะโกรธกับรสอาหารหรือโกรธกับสัมผัส ก็มีเหมือนแต่ไม่ค่อยรุนแรง ซึ่งถ้าเราไม่พอใจกับกลิ่น ก็เพียงแต่ไม่พอใจ แต่ก็ไม่ผูกเอาไว้ ถ้าไม่พอใจกับกลิ่น คือต้องไม่พอใจกับคนที่มาทำให้เกิดกลิ่น หรือกับรส ก็ไม่พอใจกับคนที่มาปรุงรส และที่ไม่พอใจกับสัมผัส ก็คือไม่พอใจกับสิ่งที่มาสัมผัส ความไม่พอใจจะเกิดขึ้นที่เด่นชัดก็คือ เวลาเราเห็นกับได้ยิน

     ในสิ่งที่เราเห็นหรือได้ยินนั้น มักจะเกี่ยวข้องกับคนไม่ใช่กับสิ่งอื่น ถ้าไม่เห็นสิ่งที่ทำให้เราถูกใจ ความผูกโกรธก็จะหายไป เช่น สุนัขมันมารบกวนเรา บางทีเราไม่พอใจ เราขว้างให้ มันวิ่งหนีไป เราก็เสร็จเรื่อง หรือทำจานตกแตก เราไม่พอใจตีแมว พอมันวิ่งหายไปก็จบลง ไม่มีใจผูกโกรธเอาไว้ ได้ยินเสียงสุนัขมันเห่าหนวกหู หรืออะไรที่มาทำให้หนวกหูรำคาญ ทำให้เราไม่พอใจ แต่พอเสียงหายไป ความไม่พอใจนั้นก็หายไปด้วยไม่ผูกเอาไว้ แต่จิตของเราที่จะผูกโกรธนั้น เกิดกับคนด้วยกัน สมมติใครทำอะไรให้เราไม่พอใจ พอเราเห็นเราก็โมโห เราก็แว้ดขึ้นมา ก็เริ่มผูกเอาไว้แล้ว ไม่ยอมปล่อยไป หรือได้ยินเสียงพูดมาเราจำได้ก็มีความรู้สึกที่ไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจก็กดเอาไว้ ข่มเอาไว้ พอครั้งที่ ๒ ๓ กดมากเข้าๆ จนถึงที่สุด เมื่อทนไม่ไหวแล้วจึงระเบิดตูมออกมา บางทีระเบิดออกมาทั้งการกระทำทางกาย อาจแสดงออกมีการทุบตี บางทีมีการฆ่า หรือมิฉะนั้นก็ออกมาทางวาจา มีการพูดประชดประชัน มีการด่าทะเลาะกัน ในสภาพจิตของเราที่ถ้าพยายามให้ความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้ว มันก็จะเกิดความพยาบาท

     สังเกตดูลักษณะความไม่พอใจ ถ้ามีความโกรธพุ่งขึ้นมาและถ้าไม่มีความพยาบาทผูกโกรธเอาไว้ จิตที่ไม่สบายไม่พอใจก็จะหายไป ที่เห็นได้เช่นสมมติลูกของเราทำให้เราไม่พอใจ เราโกรธลูก ตีลูกพอหลังจากนั้นแล้วความโกรธหายไป เปลี่ยนเป็นเมตตาจิต สงสารลูก ที่เคยตีลูกเพราะโมโห ตีก็ด้วยอำนาจของความโกรธ พอตีเสร็จแล้ว ความโกรธดับ จิตก็เป็นปกติ นึกสงสารลูก สภาพจิตนี้ไม่ใช่เป็นจิตพยาบาท โกรธก็จริงอยู่แต่ไม่เป็นจิตพยาบาท คือ ไม่ผูกโกรธหรือจองเวร จิตที่ไม่ผูกโกรธนั้น หลังจากโกรธแล้ว ก็เป็นปกติ

     แต่จิตที่มีนิวรณ์นั้น เป็นจิตพยาบาทจองเวรและผูกโกรธเอาไว้ จิตของเราเวลาเราผูกโกรธกับใครนั้น มันจะอยู่อย่างนั้นแหละ แม้เราไม่เห็นเราไม่ได้ยิน จริงอยู่บางทีจนเราลืม บางครั้งลืมไปนึกไม่ออก แต่พอพบหน้าเท่านั้น นึกขึ้นมาได้ ทั้งเราทั้งเขาไม่มีอะไรหรอก แต่พอบุคคลนั้นทำอะไรที่ไม่ถูกใจเราขึ้นมาเท่านั้นเอง เป็นการไปเขี่ย คือเหมือนเอาอะไรทับเอาไว้ พอคนนั้นทำไม่ถูกใจขึ้นมาเท่านั้น ที่เคยปิดเอาไว้ก็เปิดออกมาได้ทันที นี่คือลักษณะของจิตผูก เพราะฉะนั้น สังเกตดูเวลาเราปฏิบัติธรรม บางทีจิตเราสงบไป เมื่อมีอะไรมากระทบเท่านั้น จิตที่เคยเป็นสมาธิจะไม่เป็นสมาธิต่อไปแล้ว พอเราไปนั่งภาวนา จิตมันจะตึงตัง ๆ ขึ้น นี้เพียงแต่ว่าจิตมีความโกรธและผูกพยาบาทขึ้นมาและก็เท่านั้นแหละ ไม่ต้องหวังเลยที่จะให้จิตนั้นสงบ ลองดูก็ได้ ถ้าเรามีจิตโกรธและผูกโกรธกับใครไว้ วันนั้นเราจะนั่งภาวนาไม่สงบเลย จิตจะผูก ขุ่นมัว และเร่าร้อน เป็นวันเป็นคืนที่จิตสงบไม่ได้เลย

     ๓. ถีนมิทธะ คือความง่วงเหงาหาวนอน สะลึมสะลือ ความเป็นจริงก็คือจิตที่มันขี้เกียจขี้คร้านนั่นเอง จิตไม่มีความกระตือรือร้น คิดดูโดยส่วนมากแล้ว การที่เราจะนั่งสมาธิภาวนาได้ดีหรือไม่ได้ดีนั้นขึ้นอยู่กับนิวรณ์ตัวนี้ ถ้าหากนิวรณ์ตัวนี้มีมาก มักจะถูกอ้างเรื่อย วันนี้มันปวดบ้าง ง่วงนอนบ้าง ไม่มีเวลา มันยังไม่ถึงเวลา หากเกิดขึ้นอยู่ ทำให้คนไม่อาจทำความดีได้หรือไม่ได้ดีเท่าที่ควร เป็นเพราะนิวรณ์ตัวนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จิตของเรามันชอบจะอ้างไปสู่ความขี้เกียจขี้คร้านกันทั้งนั้นและก็มากที่สุดที่จิตอ้าง วันนี้มันร้อนนัก เย็นนัก สายนัก หนาวนัก จิตมันอ้างอยู่ตลอดเวลา นี่ความขี้เกียจขี้คร้านของจิต

   คนทั่วไปมองดูแล้วเหมือนกับว่าถีนมิทธะนี้ไม่มีพิษมีภัยอะไรกลับมองเห็นพิษภัยจากกามฉันทะและความพยาบาท แต่ที่เป็นพิษเป็นภัยที่มันไม่แสดงตัวออกมาก็ตัวนี้แหละ มันทำให้เราหลงว่าไม่ใช่นิวรณ์ ความเป็นจริงแล้วเป็นนิวรณ์ทั้งนั้นแหละเรื่องขี้เกียจขี้คร้าน วันนี้ต้องนั่งน้อย ๆ หน่อย ถ้าตั้งเวลาไว้ให้นั่งน้อย ๆ จะบอกเลยว่า ไม่ไหว ร่างกายทนไม่ไหวแล้ว พอนั่งน้อย ๆ ก็ดีใจ หารู้ไม่ว่านิวรณ์ตัวนี้แหละมันวิ่งเข้ามาสนับสนุนจิตของเรา การที่จิตของเราไม่พัฒนาเท่าที่ควรนั้น เพราะเราหลงกับนิวรณ์ตัวนี้ คิดดูก็ได้ ถ้าเราสวดมนต์มาก ๆ ก็ไม่ได้ กลัวว่าจะไม่ได้นอน เพราะมัวเป็นห่วงเป็นกังวลอยู่ คอยขัดขวางอยู่ เราพิจารณาดูทั้งหมด อะไรก็ตามถ้ามาอ้างที่จะขัดขวางการทำความดี เรารู้เลยว่านั่นแหละตัวนิวรณ์ของถีนมิทธะ บางทีก็นั่งหลับไป บางทีก็อาจนั่งสัปหงกอยู่ นี่เป็นความหมายที่มีเพียงส่วนหนึ่ง สิ่งที่คอยรบกวนจิตไม่ให้เกิดความสงบขึ้นมา ไม่ให้ทำความดี ก็เอามาอ้าง ถ้าเราจะนั่งนาน ๆ เพื่อจะให้จิตนั้นมีการรวมตัวให้เกิดความอดทนและเข้มแข็ง ก็ไม่ได้ มันปวดทนไม่ไหว อย่างไรมันก็อ้างอยู่อย่างนี้

     ทำอย่างไรจิตจะสงบได้ล่ะ ก็จิตยังไม่ทันสงบก็เปลี่ยนท่านั่งแล้วมันก็สงบไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องมาศึกษาพิจารณาตัวนิวรณ์ประเภทนี้ให้ดี ถ้าตราบใดที่เราไม่ทำลายให้ออกไปจากจิตของเราให้หมดแล้ว จิตก็จะสงบไม่ได้ ถ้าเราจะนั่งสมาธิให้สงบ เราก็ต้องพยายาม ต้องใช้เวลา บางทีปวดขึ้นมาก็เปลี่ยนแล้ว พอกำหนดเวลาเท่านั้นเท่านี้ เราก็ต้องต่อลงนิดหนึ่ง ดังนั้น เราก็ต้องพยายามทำให้มันถึงจุด มันจึงจะสงบได้ ถ้าถึงจุดไม่ได้ก็สงบไม่ได้เพราะมีข้ออ้างว่ามันเจ็บมันปวด อ้างเวลาอย่างนั้นเวลาอย่างนี้ เป็นเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเรานั่งสมาธิ นิวรณ์นี้มาครอบงำจิตเราได้ นอกจากจิตดังกล่าวแล้ว จิตขี้เกียจนั่ง นั่งเฉย ปล่อยไม่สนใจและไม่ตั้งใจ ไม่สนใจก็ดี ไม่ตั้งใจจริงจังก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นถีนมิทธะ เฉื่อยชาไม่กระตือรือร้น ไม่พยายามกระตุ้นให้ตื่นขึ้นมา ให้ตัวนิวรณ์ไปกดจิตอยู่อย่างนั้น และจิตก็สงบไม่ได้

    นี่เราต้องศึกษาให้ดีนิวรณ์ประเภทนี้ ถีนมิทธะมันจ้องมากและมันละเอียดมาก ละเอียดจนกระทั่งเราไม่เข้าใจ และโดยเฉพาะเราคุ้นเคยกับมันคุ้นเคยจนกระทั่งราวกับว่าไม่ใช่เป็นตัวกิเลสนิวรณ์ บางครั้งเราก็เห็นเป็นสิ่งที่เราจำเป็น เป็นสิ่งที่เราควรทะนุถนอมเอาไว้ ในการปฏิบัติธรรมนี้ครูบาอาจารย์ท่านจะต้องชำระจิตให้พ้นจากนิวรณ์นี้ บางทีทำไมท่านจึงอดหลับอดนอน บางครั้งทำไมท่านต้องอดอาหาร เพื่ออะไร ก็เพื่อกำจัดนิวรณ์ตัวนี้ กินอาหารมากทำให้ท้องตึงท้องอืด ความขี้เกียจเพิ่มขึ้น นอนมาก ๆ ทำให้จิตเฉื่อยชา เซื่องซึม ความขี้เกียจเข้าครอบงำจิต ทำไมครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติ ท่านดู ๆ เรื่องกามฉันทะ พยาบาท ท่านไม่กลัวเท่าไร สิ่งที่กลัวคือนิวรณ์ตัวนี้แหละ เวลาเกิดถีนมิทธะ ท่านจะเดินให้เกิดความเหนื่อย อดอาหารอดหลับอดนอน เพื่อเป็นการลดละ เพราะจิตมันเฉื่อยชาและขี้เกียจขี้คร้าน

     ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ลักษณะจิตที่เลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว บางทีจิตชอบปรุงแต่งราวกับสร้างวิมานบนอากาศ จิตของเราบางทีก็คิดไป เอาเรื่องนั้นมาคิด จบเรื่องนั้นก็ปรุงแต่งเรื่องนี้ กลับไปเอาเรื่องนั้นมาคิดอีก ความคิดที่ไม่มีจุดหมายปลายทางความคิดที่ไม่มีอะไรแน่นอน ลักษณะอย่างนี้บางทีก็เกิดขึ้นได้ เป็นเพราะจิตที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง จิตฟุ้งซ่าน คิดไปเรื่อยเปื่อย ก็แน่นอนอยู่แล้ว จิตจะไม่อยู่ในฐาน มันต้องเลือนออกจากฐานไป จิตนั้นไม่ปกติแล้ว มันก็ไปเรื่อยเปื่อย แต่อย่างถีนมิทธะที่กล่าวมาแล้ว จิตอยู่ในฐานเหมือนกัน แต่ในฐานที่จิตไม่มีความกระตือรือร้น มันเฉื่อยชาจนกระทั่งจิตนั้นไม่อยากจะทำอะไร มันอืดอาดอยู่อย่างนั้นแหละ ทั้งที่จิตอยู่กับฐาน บางทีจิตอยู่กับฐาน แต่มันไม่ตื่นตัวที่จะรู้จะเห็น แต่อุทธัจจกุกกุจจะนั้นจิตออกจากฐานไป ไม่มีจุดหมายปลายทาง จิตจึงสงบไม่ได้ นั่นมองเห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบาย

     ๕. วิจิกิจฉา ความลังเล ความไม่แน่นอนของจิต คือจิตมันตัดสินใจไม่ได้นั่นเอง เราสังเกตคนที่ทำอะไรแล้วมักตัดสินใจไม่ได้ จิตจะไม่อยู่อารมณ์เดียว บางคนทำอะไรยกจากตรงนี้ไปไว้ตรงนั้น ยกจากตรงนั้นไปไว้ตรงโน้น คิดว่าตรงนี้ไม่เข้าท่า ไปไว้ตรงโน้นดีกว่า ความคิดก็เลื่อนไปอีก ตรงนั้นดีกว่า ความคิดที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนไป เลื่อนไป ไม่มั่นใจ ว่าตรงนี้จะ ถูก จะดีไหม จะปลอดภัยไหมและก็ดูจิตของเรา แม้กระทั่งมานั่งสมาธิภาวนา บางครั้งเรายังกำหนดไม่ได้เลยว่าจะเอาอะไรที่แน่นอน วันนี้กำหนดลมหายใจเข้าออก บางทีก็กำหนดนึกพุทโธ ๆ ไป และยิ่งกว่านั้น ไม่รู้ว่าจิตเรามันวางตรงไหน กำหนดอะไรแน่นอน ความรู้อยู่ตรงไหนแน่นอนจิตก็ไม่รู้ จิตของเราก็ย้ายไปเรื่อย ๆ อยู่อย่างนั้น อันนี้คือในระดับอารมณ์ธรรมดา ๆ ของจิต แต่ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเกิดจิตที่ละเอียดเข้าไปอีก จิตคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น คิดไปในคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ นั่นคือไม่แน่ใจว่ามันจริงอย่างนั้นไหม อันนี้คือสิ่งละเอียดลึกลงไปอีก แต่เอาระดับธรรมดา ๆ ลองดูเราจะคิดอะไรทำอะไร บางครั้งมันไม่แน่นอน มักจะย้ายจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เมื่อเปลี่ยนไปจิตก็ย้ายไป มันก็สงบไม่ได้ ฉะนั้น หากจิตของเรามั่นคงในจุดในเวลานี้แล้วมากำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกเอาให้มั่นคงแน่ ๆ แล้ว แม้เปลี่ยนไปเรื่องอื่น เราก็ไม่ต้องย้ายไปเรื่องอื่น เท่านั้นก็จะสงบลง

    ฉะนั้น เรามาดูนิวรณ์ทั้งห้า ถ้าครอบงำจิตของเรา นิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม จะทำให้จิตเรานี้เป็นปกติไม่ได้ เมื่อจิตไม่เป็นปกติ จิตก็สงบไม่ได้ กามฉันทะก็ดี พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา นี้แหละเป็นตัวทำให้จิตของเราสงบไม่ได้ สงบไม่ได้เพราะอะไร ก็เพราะมีนิวรณ์ทั้งห้าเป็นอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตนึกคิดปรุงแต่งนั่นเอง นิวรณ์เป็นอารมณ์ที่จิตคิดแล้วทำให้จิตไม่ดี เมื่อจิตไม่ดีก็ทำให้จิตผิดปกติ จึงสงบไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงหาอารมณ์อื่น คืออารมณ์ที่ดี ๆ มาคิดแทน โดยปกติจิตมักคิดเรื่องอารมณ์ที่ไม่ดี จะเป็นกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นอารมณ์ที่ไม่ดีของจิต เมื่อจิตคิดอย่างนั้น จิตก็ไม่สงบ เพราะฉะนั้น หลักในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำหรือทรงพิจารณาว่า เราควรจะเอาอารมณ์ที่ดีเข้ามา เพื่อที่จะกำจัดอารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นออกไปจากจิต นั่นคือการเอาอารมณ์แห่งกรรมฐาน ๔๐ ชนิดด้วยกัน เข้ามากำจัดปราบปรามตัวอารมณ์ไม่ดีคือนิวรณ์นี้ และก็มีกรรมวิธีที่จะปราบนิวรณ์แต่ละเรื่องไป ท่านกล่าวไว้ว่านิวรณ์ใดเอาอารมณ์ชนิดใดเข้ามาปราบ เช่น กามฉันทะก็ต้องเอาอสุภกรรมฐาน คือพิจารณาของไม่สวยไม่งามมาทดแทนเสีย หรือถ้าหากว่าจิตมีความพยาบาท ก็จะเอาพรหมวิหาร ๔ มีเมตตาเป็นต้น มาปราบเสีย เพราะฉะนั้น อารมณ์กรรมฐานทั้ง ๔๐ นั้น เป็นเครื่องมือเอามาปราบนิวรณ์

     อย่างเรามากำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นอารมณ์ เราก็มาลองพิจารณาดูว่า การที่เรากำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก หรือเราเอาพุทธคุณมาบริกรรมด้วย สามารถที่จะปราบตัวนิวรณ์ทั้งหลายได้ไหม จะเห็นว่าสามารถที่จะปราบได้ เพราะอะไร เพราะเรามาระลึกลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่นี้ เรานึกพุทโธ ๆ อยู่ ให้จิตของเรามาอยู่กับลมหายใจเข้าออก อารมณ์ที่เราไปนึกรักใคร่พอใจและยินดี หรือจิตที่พยาบาทคนอื่นจิตที่ขี้เกียจขี้คร้าน จิตฟุ้งซ่าน จิตไม่แน่นอน มีไหม จะพบว่าไม่มี มีอารมณ์เดียวที่ให้จิตเรานึกแต่พุทโธ ๆ อยู่นี้ มันจะสร้างอารมณ์ขึ้นมาใหม่ อารมณ์พุทโธนี้เป็นอารมณ์ดีเป็นกุศล จะทำลายกิเลสไปโดยปริยาย

   เพราะฉะนั้น เราเพียงแต่มากำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้นระลึกอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก อย่าปล่อยให้จิตเราออกไปอยู่ที่เรื่องอื่นเสียก็ทำให้นิวรณ์ทั้งห้านั้นดับไปโดยปริยาย เพราะเราไม่ไปปรุงแต่ง เราปรุงแต่งเฉพาะลมหายใจเข้าลมหายใจออก หรือเราปรุงแต่งเฉพาะพุทโธ ๆ อยู่นี้ถ้าจิตเรานึกพุทโธ ๆ อยู่ติด ๆ กัน จนกระทั่งจิตเราไม่เลื่อนไปที่อื่น มันไม่ขยับไปที่อื่น มันจะอยู่ตรงนั้น ตรงที่ลมหายใจเข้าออกที่เรากำหนดรู้อยู่นี้ จิตของเราก็สงบได้ นิวรณ์ก็เริ่มดับลง

   ถ้าตราบใดที่จิตเรายังอยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ นิวรณ์ก็เข้ามาไม่ได้ ถ้าจิตเราถอนออกจากลมหายใจเข้าออกแล้วไประลึกถึงนิวรณ์ใดนิวรณ์หนึ่งขึ้นมานั้น มันก็ครอบงำจิตเราทันที จิตเราก็สงบไม่ได้ เพราะฉะนั้น พยายามเอาสติคือระลึก สัมปชัญญะคือรู้ตัว และก็พยายามที่จะกำหนดอยู่ที่ตรงนั้น จนกระทั่งความรู้สึกของเรานั้นไปจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนานเท่าที่จะนานได้ และก็มีการระลึกอยู่ตลอดสายคือไม่มีการขาดตอน จิตมันก็เข้าสู่ความสงบได้ นี่ถ้านิวรณ์ดับจิตก็สงบ เมื่อจิตสงบนิวรณ์ก็ดับไปเอง พอดับนาน ๆ เข้า สงบนาน ๆ เข้า จิตก็เริ่มผ่องใสขึ้นมา ในที่สุดจิตก็เข้าสู่ความสงบแนบนิ่งไป

  เริ่มต้นจิตอาจจะสงบชั่วขณะหนึ่ง คือในขณะที่เรามีสติกำหนดรู้อยู่กับคำที่เราบริกรรมอยู่ พอเราสงบนานเข้า ๆ จนจิตไม่อาจเผลอแวบไป บางทีพอเรานั่งไป ๆ จนจิตนั้นสงบจนไม่ไปไหนแล้ว คือมันเข้าไปสู่ความสงบที่แนบสนิทจริง ๆ จนกระทั่งคำบริกรรมก็ไม่มี คือไม่ต้องระลึกแล้ว พุทโธก็ไม่ต้องระลึก ลมหายใจก็ไม่ต้องรู้ ให้จิตมันนิ่งดิ่งอยู่อย่างนั้นแหละและมันนิ่งอยู่นานเท่าไรก็ได้ จะนั่งได้เป็น ๒-๓ ชั่วโมง หรืออาจ ๔ ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นเป็น ๑-๒ วัน หรือ ถึง ๗ วันก็ได้ และจิตมันจะไม่ออกมารับรู้ภายนอกเลย นั่นเรียกว่าเป็น อัปปนาสมาธิ คือจิตที่เป็นสมาธิที่แนบแน่น

ในหลักของสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ

    ๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะหนึ่ง มันไม่นาน แต่ก็เป็นสมาธิเหมือนกัน

    ๒. อุปจารสมาธิ คือมันเฉียด ๆ เป็นสมาธิเหมือนกันขณะหนึ่งเดี๋ยวมันก็หยุดไป ไม่แนบแน่น

    ๓. อัปปนาสมาธิ ดังได้พูดมาแล้ว มันจะแนบสนิท นั่งอยู่นานเท่าไรก็ไม่รับรู้ภายนอกทั้งสิ้น จะรู้ก็แต่ภายในเท่านั้น

นี่คือลักษณะของสมาธิที่เราควรจะเรียนรู้ ซึ่งจะได้บรรยายในโอกาสต่อไป

 

วิดีโอ

WatpaLA-Youtube

Copyright ©2554 วัดป่าธรรมชาติ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา