สารบัญ
หน้าที่ 3 จาก 4
เรื่อง รูปฌาน ๔ประณมมือขึ้น แล้วว่าตาม......“ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ คุณความดีทุกประการ จงมาดลบันดาลให้จิตของข้าพเจ้า จงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ พุทโธ พุทโธ “ เอามือลงนั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาหงายทับมือซ้ายวางไว้บนตักตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดลมหายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ ให้นึกพุทโธ ๆ อยู่ในใจพร้อมกับหลับตา ในขณะเดียวกันเราก็ฟังการบรรยายอบรมไปในตัวด้วย การที่เราฟังการอบรมนั้น อย่าเอาใจของเราออกมาที่เสียง ให้เราเอาเสียงนั้นไปไว้ที่เราของเรา คือให้ฟังอยู่ที่หู แล้วกำหนดรู้อยู่ที่ใจ เราเพียงแต่ทำความรู้อยู่ภายในเท่านั้น คือ ฟังเอาความหมายว่าการบรรยายนั้นพูดถึงเรื่องอะไร แล้วก็ทำความรู้ให้เกิดภายในจิตของเราเท่านั้น อย่าให้จิตของเราวิ่งเข้าวิ่งออกตามเสียงเพียงแต่เรากำหนดรู้ ให้ความรู้อยู่ภายในจิตเท่านั้นขณะที่เราฟังอยู่นี้ ถ้าจิตของเราสามารถกำหนดรู้อยู่ภายใน โดยไม่ให้ความรู้สึกนึกคิดของเราไปคิดในเรื่องอื่น การฟังนั้นก็สามารถที่จะทำจิตของเราให้เกิดสมาธิได้ เมื่อจิตของเราเข้าสู่สมาธิแล้ว สภาวะจิตของเรานั้นจะมีความเป็นอย่างไร จิตของเรานั้นเมื่อเราสามารถรวบรวมความคิดให้มายึดติดอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยไม่เปลี่ยนแปลงก็จะเข้าสู่สมาธิ การที่จิตเข้าสู่สมาธินี้เอง สภาวะจิตก็จะเกิดขึ้น การที่จิตไปยึดติดในอารมณ์นั้น ในคำอีกคำหนึ่งท่านมักจะใช้คำว่า ฌาน หรือที่เราเคยได้ยินว่า เข้าฌานฌาน หมายถึงจิตที่ไปเพ่งหรือไปยึดไปติดอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในสมาธินั่นเอง เพราะคำว่าฌานแปลว่าการเพ่ง เพราะฉะนั้น จิตของเราที่อยู่ในสมาธิ ก็คือจิตเพ่ง จิตจ้อง จิตจดจ่อ จิตยึดอยู่ในอารมณ์ที่เรากำลังระลึกอยู่ เช่นในเวลานี้ จิตของเราก็กำลังเพ่งไปที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก พร้อมกับเราระลึกคำบริกรรมพุทโธ ๆ อยู่ในใจการที่จิตเข้าไปเพ่งอยู่ในอารมณ์ใดอยู่นั้น เมื่อเพ่งนาน ๆ จนกระทั่งจิตนั้นไม่ขยับเขยื้อนไปที่อื่น คือยังเพ่งยังมองและยึดติดอยู่ตรงนั้น ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า จิตเป็นสมาธิ และจิตกำลังเข้าอยู่ในลักษณะของฌานฌานนั้นท่านแบ่งเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ ๆ คือ รูปฌาน และ อรูป ฌานคำว่า รูปฌาน นั้นหมายถึงจิตเพ่งอารมณ์ที่เป็นรูป ถึงไม่เป็นรูป แต่ก็เป็นลักษณะบางประการที่เป็นรูปธรรม ส่วนอรูปฌานนั้น คือจิตที่เพ่งในสิ่งที่ไม่มีรูป ไม่มีตัวตน เรื่องนี้จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ วันนี้จะกล่าวถึงเฉพาะรูปฌาน ซึ่งจิตที่เราฝึกหัดปฏิบัติจนเกือบเป็นสมาธิแล้ว จิตก็จะเข้าไปสู่รูปฌาน รูปฌานนี้เป็นลักษณะการเดินทางของจิตที่เราได้ฝึกฝนอบรมมา มีลำดับขั้นตอนทั้งหมดถึง ๔ ขั้นด้วยกันขั้นที่ ๑ เรียกว่า ปฐมฌานขั้นที่ ๒ เรียกว่า ทุติยฌานขั้นที่ ๓ เรียกว่า ตติยฌานขั้นที่ ๔ เรียกว่า จตุตถฌานการที่ท่านแบ่งเป็นขั้น ๆ อย่างนี้ ก็เป็นการแบ่งขั้นการเดินทางของจิตที่เข้าสู่สมาธิตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียดนั่นเอง เราลองมาศึกษาสภาวะจิตของเราที่เริ่มเข้าสู่ปฐมฌานว่ามีลักษณะอย่างไร สภาวะจิตเมื่อไม่ได้ฝึกฝนจะมีนิวรณ์มารบกวน แต่เมื่อเราฝึกจนสามารถกำจัดนิวรณ์ทั้งห้าได้หมดแล้ว จิตของเราก็รวมเป็นสมาธิดิ่งอยู่กับอารมณ์เดียว ลักษณะของจิตในขณะนี้เป็นจิตที่กำลังประคองอารมณ์อยู่ เมื่อแระคองอารมณ์อยู่จนจิตมันนิ่งดิ่งในอารมณ์เดียวนี้เอง มันจะเกิดอาการขึ้นภายในจิต ๕ ลักษณะด้วยกัน๑. ลักษณะจิต วิตก คำว่าจิตวิตกนี้ เราก็อาจนึกถึงอย่างคนวิตกกังวล คือเป็นลักษณะของจิตไปยึดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแล้วเกิดความกังวลเดือดร้อน นั่นเรียกว่าเกิดความวิตกกังวล แต่ คำว่าวิตกของจิตที่อยู่ในฌานที่เป็นปฐมฌานนี้ เป็นจิตที่มีความวิตก คือจิตมาประคองอารมณ์ เช่นขณะนี้จิตของเรากำลังประคองอารมณ์พุทโธ ๆ อยู่ จิตนั้นจะไม่ละจากจุดตรงนี้ และจะไม่ละจากคำว่าพุทโธ มันจะอยู่ตรงนี้จะมีอะไรหรืออารมณ์อื่นเข้ามาแทรกก็ตาม จิตจะไม่สนใจ จะสนใจเฉพาะอารมณ์ที่กำลังระลึกอยู่เท่านั้น หรือกำลังประคองอารมณ์ลมหายใจเข้าออกอยู่ ตัวจิตก็จะอยู่ตรงนั้น จะไม่ขยับเขยื้อนไปอยู่ที่อื่น จะนึกอยู่ตรงนั้น จะบริกรรมอยู่ตรงนั้นแหละ จะนึกพุทโธก็นึกพุทโธ ๆ อยู่ตรงนั้น จะไม่มีการถอยขยับไปไหน นี่จิตมันมีคำว่าวิตกกังวลเหมือนกัน มันกังวลอยู่ในอารมณ์นี้ ไม่ใช่เป็นวิตกกังวลเหมือนจิตธรรมดา จิตธรรมดามันวิตกกังวลแล้วทำให้เกิดทุกข์ แต่นี้จิตวิตกที่มีการประคองอารมณ์นั้นเอาไว้๒. ลักษณะจิตที่เรียกว่า วิจาร เป็นลักษณะของจิตพิจารณาคือจิตมอง จิตดู จิตทำความเข้าใจ จะมองดูลมหายใจเข้าออกก็ดีพิจารณาดูในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็ดี นั้นเป็นวิจาร วิจารคือลักษณะของจิตพินิจพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญดู คล้าย ๆ กับเราได้ของมาสักชิ้นหนึ่ง ตัววิตกคือจับของนั้นเอาไว้ แต่วิจารคือมาพินิจพิจารณาดูของนั้นว่ามีลักษณะอย่างไร มีสีสันอย่างไร มีความสามารถและประโยชน์อย่างไร ตัววิจารทำหน้าที่พิจารณา จะเป็นพิจารณาอารมณ์ที่ประคองอยู่ก็ตาม หรือพิจารณาอะไรในสิ่งที่จิตกำลังประคองอยู่นั้น นี่คือลักษณะของคำว่าวิจาร๓. ลักษณะจิตที่เรียกว่า ปีติ ปีติเป็นลักษณะของความอิ่มความอิ่มใจ ความเบิกบานใจ ซึ่งเป็นผลของความสุขที่รุนแรง ถ้าธรรมดาก็เป็นตัวความสุข แต่ความสุขที่รุนแรงมันทำให้เกิดปีติ คือทำให้เกิดความดีใจ เรามาลองนึกดู อย่างเราได้อะไรมาใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการ ความปีติคือความอิ่มใจนี้จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับจิตของเราแต่ก่อนนั้นมีความวุ่นวาย มีความเดือดร้อนต่าง ๆ แต่พอจิตของเรานั้นมาประคองกับอารมณ์อยู่ สลัดนิวรณ์ทั้งหมดออกไปได้ ความเบา ความโปร่ง และความสบายของจิตก็เกิดขึ้น ทำให้จิตนั้นมีความสุขอย่างแรงมาก เลยกลายมาเป็นปีติคือความอิ่มใจขึ้นมา ลักษณะของปีตินี้ เราจะสังเกตเห็นได้ว่าเกิดขึ้นหลายลักษณะ เช่นบางคนเกิดขึ้นแล้วน้ำตาไหลออกมา คือมันอิ่มจนน้ำตาไหลและร้องไห้ก็มี บางคนเกิดการขนลุกซู่ขึ้นมา บางคนตัวลอยขึ้นก็มี นี่คือลักษณะของจิตที่มีปีติ ลักษณะเช่นนี้อยู่ในปฐมฌาน คือฌานชั้นแรก๔. ลักษณะจิตที่เรียกว่า สุข ความสุขกับปีติมีลักษณะที่แตกต่างกันตรงที่ว่า ที่ใดมีปีตินั้นจะต้องมีความสุขด้วย แต่ที่ใดมีความสุขอาจจะไม่มีปีติก็ได้ เพราะฉะนั้น ตัวความสุขนั้นเกิดขึ้นภายในจิต เป็นความสุขที่ลึกซึ่ง ส่วนปีตินั้นเป็นลักษณะของความอิ่ม อิ่มใจ ไม่ใช่สุขใจ เพราะฉะนั้น ปีติจะอยู่ลอย ๆ โดด ๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยความสุข แต่เป็นความสุขที่มีปริมาณสูงจนจิตเราคุมไม่อยู่ เลยกลับกลายมาเป็นลักษณะอิ่มใจเรียกปีติในลักษณะของปฐมฌานนี้ เราจะสังเกตดูว่า ทำไมจึงมีปีติเกิดขึ้นเพราะว่าจิตของเราแต่ก่อนคล้าย ๆ กับมันต้องแบก ต้องยึดต้องถือและต่อสู้ต่าง ๆ ทำให้จิตของเราต้องทุกข์เดือดร้อน ต้องหนักอันเกี่ยวกับอารมณ์คือนิวรณ์นี้ แต่เมื่อจิตของเรานั้นกำจัดนิวรณ์ออกไปหมด ทำให้จิตเบา สบายเย็น และสงบ มันเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จนจิตเราไม่เคยชินต่ออารมณ์ชนิดนี้ ก็เลยทำให้เกิดความสุขที่มีพลังสูงมาก จึงเป็นปีติเกิดขึ้น และความสุขก็เกิดขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องไปรับหรือแบกยึดถือกับอารมณ์ที่มากระทบทำให้จิตเราต้องกระเพื่อมและวุ่นวายคือนิวรณ์ จิตก็นอนนิ่งเกิดความสุขขึ้นนี่คือลักษณะที่ ๔ เป็นอาการของจิตในปฐมฌาน๕. ลักษณะจิตที่เรียกว่า เอกัคคตา คือ จิตมีอารมณ์เดียว จิตประคองอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน คือจิตดิ่งลงไป แต่จิตในปฐมฌานนี้ยังมีคำว่าวิตก คือจิตตื่น มันต้องทำหน้าที่คือหน้าที่ในการบริกรรมบ้าง หน้าที่ในการนึก การคิด และการพิจารณา คือ วิจารอยู่ เราดูสภาวะจิตของเรา พอเข้าสู่สมาธิแล้ว จะต้องมีลักษณะอย่างนี้เป็นจุดเริ่มต้น เพราะฉะนั้น พวกเรานักปฏิบัติธรรม เมื่อจิตของเราสงบแล้ว เรารู้ว่าขณะนี้จิตเรากำลังอยู่ในปฐมฌาน คือจิตเรากำลังบริกรรมอยู่ ในอารมณ์เดียว และจิตเรามีวิจารคือตริตรองพิจารณาหาเหตุผลอยู่ และก็มีปีติความอิ่มเอิบใจ ความสุขก็เกิดขึ้น และจิตก็จะดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้นลักษณะของจิตเมื่ออยู่ในสภาวะอย่างนี้นาน ๆ เช่น เราบริกรรมพุทโธ ๆ ไป จนกระทั่งจิตนั้นสงบเต็มที่ เราไม่จำเป็นต้องนึก ต้องคิด และบริกรรมแล้ว จิตจะประคองอารมณ์ อย่างอารมณ์พุทโธก็ดี หายใจเข้าออกก็ดี จิตจะไม่ทำงานแล้ว คือหยุด ปล่อยทิ้งเสีย ปล่อยทั้งความวิตกคือจิตที่ประคองอยู่ ปล่อยทั้งจิตที่ไปพิจารณานั้น ปล่อยทิ้งไม่จำเป็นอีกต่อไป ลักษณะของจิตนั้นจะมีเพียงความอิ่มเอิบอยู่ในสมาธิ และก็มีความสุข และจิตที่ดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อยู่ตรงนั้นแหละไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ถ้าสภาวะจิตอย่างนี้เกิดขึ้น แสดงว่าจิตของเราเลื่อนขึ้นแล้ว ขึ้นไปสู่ ทุติยฌาน คือฌานขั้นที่ ๒ฌานที่ ๒ นี้ ถ้าจะเปรียบเทียบกับสิ่งภายนอกที่เกิดขึ้นกับเราตัวอย่างเช่น เราได้ของอะไรมาใหม่ ๆ ที่ชอบใจ สมมติว่าเราไปซื้อรถยนต์มาใหม่เอี่ยม เดี๋ยวเราก็ต้องไปจับ เช็ดถู เดี๋ยวก็ต้องมองแล้วมองอีก ที่เช็ดถูและมองดูนั้นแหละคือลักษณะของวิตกวิจาร ตอนได้มาใหม่ ๆ มักจะมีลักษณะครบ ๕ อย่างเหมือนกัน คือมีความอิ่มใจและมีความสุขอีกด้วย จิตจะจดจ่ออยู่ในรถยนต์คันนั้น พอนานเข้า ๆ จิตที่ไปนึกไปคิดอยู่กับเรื่องการไปเช็ดถูและทำความสะอาดจะไม่ค่อยมีแล้ว มันจะหมดไป สิ่งที่มีอยู่ก็คือ ความอิ่มใจ ความสุขในการใช้รถ และจิตที่จดจ่ออยู่ในรถยนต์นั้น นี้ก็เช่นเดียวกันกับสมาธิที่เราได้ คือ พอจิตประคองอารมณ์ จิตวิจัยอารมณ์ จนจิตอิ่มตัวแล้วก็ปล่อยทิ้งเหลือแต่ความอิ่มใจ ความเบิกบาน และความสุข จิตก็ดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวนั้น นี่ลักษณะอย่างนี้เป็นลักษณะของจิตที่ขึ้นไปสู่ระดับทุติยฌาน คือฌานขั้นที่ ๒ เราจะสังเกตเห็นได้ว่า การที่เราฝึกหัดสมาธิภาวนา หรือฝึกหัดจิตนั้น เป็นวิธีการตัดกระแสอารมณ์ต่าง ๆ หรือตัดเครื่องปรุงแต่งของจิตนั่นเอง แรกก็ตัดเครื่องปรุแต่งของนิวรณ์ พอตัดนิวรณ์ได้ จิตก็ขึ้นขั้นเข้ามาในฌานขณะอยู่ในฌาน จิตก็ยังทำงานนึกคิดปรุงแต่งวิจัยวิจารอยู่ พอฝึกจิตสงบเต็มที่มันก็จะละจิตที่มีความคิดปรุงแต่งที่มีอารมณ์ที่เราบริกรรมให้หยุดอยู่แค่นั้น ในที่สุดจิตก็อยู่ในลักษณะของความอิ่มใจ ความสุข จิตก็ดิ่งอยู่ กับอารมณ์เดียวเท่านั้นทีนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาอีก เราจะสังเกตดูว่า อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราได้มาใหม่ ๆ อย่างรถยนต์ที่กล่าวมานี้ เรามีความอิ่มเอิบใจ จะเดิน นั่ง นอน ก็อิ่มใจ แต่พอเราใช้ไปนาน ๆ เข้า ความอิ่มใจนั้นค่อย ๆ หมดไป ๆ มันหมดไปเอง เพราะเกิดความเคยชินเข้า อารมณ์แห่งความอิ่มใจนี้จะค่อยจางไป ๆ ในที่สุดก็หมดไป เหลือแต่ความสุขที่จิตอยู่ในสมาธิ เหลือแต่จิตที่ดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว คือเอกัคคตา นี่ถ้าหากลักษณะจิตอย่างนี้เกิดขึ้น นั่นแหละจิตเราขึ้นไปสู่ตติยฌาน เป็นฌานขั้นที่ ๓ ถ้าเปรียบเทียบกับที่เราได้ของอะไรมา ใช้นาน ๆ ไปมันก็อิ่ม พออิ่มหมดไปมันก็อยู่กับการใช้ของนั้นอยู่นั่นเอง จิตในตติยฌานจะยังมีสภาวะจิตหรืออารมณ์ของจิตอยู่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือความสุข สุขอยู่อย่างนั้น และจิตก็จะอยู่กับอารมณ์เดียวเท่านั้น จะไม่กระดุกกระดิก ไม่ขยับไปข้างไหนเลย ถ้าเราสังเกตดูในฌานที่ ๓ นี้ จิตของเราก็ยังเสวยอารมณ์อยู่ คือ ความสุขบางทีนักปฏิบัติธรรมพอนั่งสมาธิผ่านเข้ามาถึงจุดตรงนี้ บางคนก็ติดอยู่ตรงนี้ พอนั่งไปแล้วจิตก็มีความสุขก็ดิ่ง บางทีนั่งตลอดวันตลอดคืนอยู่อย่างนั้นแต่โปรดเข้าใจว่าลักษณะจิตอย่างนี้ หลักในทางพุทธศาสนาท่านบอกว่ายังไม่ถึงจุด มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นเองทีนี้เรามาพิจารณาดูสภาวะจิตที่อยู่ในตติยฌานนี้ เป็นลักษณะของจิตที่เสวยอารมณ์ คือ ความสุข แต่ความสุขเหล่านี้ ถ้าเราอยู่นาน ๆ เข้า บางทีความสุขจะหายไป เหมือนกับเราได้ของมาใหม่ ๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น ตอนแรกเรามีปีติอิ่มใจ พอนาน ๆ ไปอิ่มใจหายหมดไป ก็มีความสุข ความสุขในการใช้สิ่งเหล่านั้น แต่เมื่อเราใช้นานไป ๆ ก็กลายเป็นเฉย ๆ คือไม่มีความรู้สึกอะไรเลย เราจะหยิบจะใช้หรือจะทำอะไร ความรู้สึกภายในจิตจะไม่มีความรู้สึกว่าสุขหรือทุกข์จะไม่มี จะรู้สึกเฉย ๆ ในสิ่งของนั้น ๆลักษณะของจิตที่อยู่ในฌานนี้ก็เหมือนกัน มันก็คล้ายกับว่าเราได้สมาธิใหม่ ๆ แหมมันมีความสุข สุขเพราะจิตสงบ จิตเบา และจิตไม่ต้องต่อสู้กับอำนาจของกิเลสหรือนิวรณ์ที่มากระทบกระทั่ง คือมันมีความสุขเราสังเกตดู พอความสุขมันเริ่มแต่ฌานที่ ๑,๒,๓ ความสุขนี้จะเกิดขึ้นมาตลอดจนกระทั่งจิตนี้มีความสุขพอ จนมันชินชาไปแล้ว ก็เลยกลับกลายเป็นจิตที่มีความวางเฉย เป็นอุเบกขาจิต คือจิตนั้นจะวางเฉยอยู่ จะไม่มีความรู้สึกอะไร ที่ว่าสุขก็ไม่ใช่ จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่คือเฉย ๆ ลักษณะอย่างนี้ถ้าเกิดขึ้น แสดงว่าจิตขึ้นไปสู่ จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ ในฌานขั้นนี้ เป็นลักษณะของจิตที่มีเอกัคคตากับอุเบกขา คือจิตจะมีอารมณ์เดียว ดิ่ง และจิตก็วางเฉย จิตระดับนี้ นอกจากจิตจะวางเฉยแล้ว จิตจะไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น ผู้ที่เข้าสู่สมาธิในระดับนี้ ถ้าจิตดิ่งลงไปจริง ๆ จนกระทั่งแม้แต่เสียงที่ดังขนาดไหนก็แล้วแต่ไม่ได้ยินคือใครจะทำอะไร ก็จะไม่ได้ยิน จะไม่รู้สึกอะไรเลย มีแต่จิตที่เข้าถึงและลึกลงไป นี่คือจิตอยู่ในจตุตถฌานเราพอจะเรียนรู้ลักษณะของสภาวะจิตตามขั้นตอนที่จิตเป็นสมาธิตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้ายของรูปฌาน ลักษณะนี้เป็นทางเดินของจิตที่จิตเดินเข้าไปสู่ความสงบในระดับของสมถกัมมัฏฐาน ทีนี้เราลองมาพิจารณาดูถึงสภาวะของจิต จิตของเราแม้จะอยู่ในระดับตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌานก็เป็นเพียงลักษณะของจิตที่อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น คือจิตมีสมาธิ ถ้าเราจะพูดในลักษณะของจิตที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น ในระดับฌานนี้ จะเกิดประโยชน์เพียงแค่ทำให้จิตสงบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถไปทำลายตัวกิเลสตัณหาอุปาทานได้หมดทีนี้เราลองมาพิจารณาดูสายการเดินทางของจิตระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาอื่น โดยเฉพาะก็คือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู หรือของอินเดีย ที่เขามีการฝึกหัดปฏิบัติจิตให้ได้ฌานตั้งแต่ระดับต้นจนกระทั่งถึงที่สุดของรูปฌาน แล้วจิตจะผ่านเข้าไปสู่อรูปฌาน หลักในศาสนาอื่นโดยเฉพาะในศาสนาฮินดูนั้น จะเดินไปในเส้นทางนี้ เส้นทางตั้งแต่ปฐมฌาน การดับความรู้สึกภายในจิต ทั้งวิตก วิจาร ปีติ สุข จนถึงที่สุดแห่งเอกัคคตาและอุเบกขา แล้วในที่สุดจะข้ามไปถึงอรูปฌาน และจิตเข้าไปอยู่ในอรูปฌานนั้น ในสายนี้เป็นสายที่เดินขึ้นไปสู่พรหมโลกถ้าจิตดับในขณะนั้นถ้าจิตของผู้ใดเข้าสู่ปฐมฌานเมื่อใดและถ้าดับในขณะนั้น แสดงว่าจิตของผู้นั้นขึ้นไปสู่พรหมโลกทันที พรหมโลกนั้นมีระดับตามความเข้มข้นของจิต เช่น ในรูปฌาน ๔ ก็ไปเกิดในรูปพรหม ๑๖ ในชั้นใดชั้นหนึ่ง อยู่ในฌาน ๔ หรือบางทีเรียกว่า ฌาน ๕ ก็มี ส่วนผู้ที่ขึ้นไปสู่อรูปฌาน ถ้าดับจิตในช่วงนั้นก็จะไปสู่อรูปพรหม ๔ ชั้นใดชั้นหนึ่ง นี่คือเส้นทางของผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนา ถ้าอยู่ในฌานก็เดินสายนี้ จะอยู่เพียงรูปพรหมหรืออรูปพรหมเท่านั้น และก็ยังอยู่ในโลกิยะภูมิคือภูมิที่เป็นโลกิยะ แล้วจิตนั้นก็มีโอกาสที่จะเวียนว่ายตายเกิดมาอีก เป็นเพราะอะไร เพราะจิตนั้นไม่มีโอกาสได้ทำงาน ได้พิจารณาเพื่อทำลาย เพื่อละ เพื่อวาง เป็นเพียงแต่จิตนั้นถูกกดทับบังคับไว้ นี่แหละ บางทีนักปฏิบัติธรรมในปัจจุบันก็มีการโต้เถียงกันว่า “นั่งสมาธิภาวนาแบบสมถะนั้นจะเพียงเหมือนกันหินทับหญ้าเท่านั้น” ที่กล่าวก็ถูกของเขา เพราะจิตไม่มีปัญญาอะไรเลย จิตเพียงแต่สงบอยู่อย่างนั้น ส่วนกิเลสอาสวะที่นอนเนื่องในสันดานนั้นเราไม่ได้ทำอะไรเลย ยังอยู่เหมือนเดิมทั้งหมดพระพุทธเจ้าของเราก่อนที่จะได้ตรัสรู้ พระองค์ได้ไปทรงศึกษาในสายนี้มาก่อนแล้ว โดยได้ทรงศึกษากับอาฬารดาบสและอุทกดาบส ทรงได้ถึงสมาบัติ ๘ คือได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ คือทรงได้สมาบัติ ๗ จากสำนักอาฬารดาบส และสมาบัติ ๘ จากสำนักอุทกดาบส การเข้าถึงสมาบัติ ๘ ก็คือเส้นทางนี้เอง เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงรู้มาก่อนแล้ว แต่ก็ทรงไม่พอพระทัย คือเพียงแต่ จิตมีความสงบสามารถที่จะมีความสุขอยู่ในสมาธินี้ แต่พอออกจากสมาธิแล้ว กิเลสต่างๆ ก็ยังมีอยู่ ยังไม่โผล่ออกมา พอทำสมาธิมันก็หายไป ออกจากสมาธิเมื่อไหร่เวลามีอะไรมากระทบ มันก็โผล่ขึ้นมา แสดงว่ารากเหง้าของมันยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น จึงยังไม่เป็นทางที่จะพ้นทุกข์ได้พระองค์จึงได้ออกจากอาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน คืออาฬารดาบสและอุทกดาบสมาบำเพ็ญธรรมทางจิตใหม่ ในที่สุดพระองค์จึงมาเดินอีกเส้นทางหนึ่ง เส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงดำเนินนั้นคือมาปฏิบัติที่จิต เอาจิตที่ได้ฝึกฝนมาดีแล้ว คือจิตที่มีพลังของสติและสมาธิ มาใช้ให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น ในประการแรกของการเริ่มต้น เราจำเป็นต้องอาศัยจิตนั้นให้มีความสงบ ให้มีพลัง ถ้าจิตไม่สงบและเราใช้จิตนั้นพิจารณาให้เกิดปัญญามันจะไม่ชัดแจ้งและไม่แจ่มแจ้ง ยกตัวอย่างเหมือนกับเรานั่งรถ ถ้ารถนั้นวิ่งเร็วเท่าไร เราจะมองเห็นสิ่งข้างๆ ถนนไม่ค่อยชัด ถ้าเราชะลอให้ช้าลงเท่าไร เราก็สามารถมองเห็นสิ่งข้างๆ ที่รถผ่านนั้นค่อยๆ ชัดขึ้นๆ จนกระทั่งเมื่อรถนั้นหยุดสนิท เราก็จะมองเห็นได้ชัดเจน หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง จิตเราเหมือนกับน้ำ ถ้ามันกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา น้ำนั้นจะขุ่น ที่ขุ่นเพราะมีตะกอนอยู่ข้างล่าง ถ้าขุ่นจะทำให้มองเห็นอะไรไม่ชัดเจน ต่อเมื่อตะกอนตกไปข้างล่างหมดแล้วน้ำจะใน พอน้ำในก็สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีอะไรอยู่ข้างในก็มองเห็นได้ฉันใดก็ดี จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าหากปล่อยให้จิตคิดจิตวิ่งอยู่ตลอดเวลา เวลาพิจารณาให้เกิดปัญญานั้นจะพิจารณายาก ถึงพิจารณาเห็นก็เห็นเพียงสัญญาความนึกคิดเท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากความรู้ปัญญาภายใน เพราะจิตมันยังคิดยังนึกปรุงแต่งวุ่นวายอยู่ จึงมองไม่เห็นชัด และอีกประการหนึ่ง ธรรมชาติของจิตเรานั้นมีเชื้อคือมีตะกอนอยู่ข้างในแล้ว ถ้าปล่อยจิตให้กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ตะกอนก็มารบกวนจิต ตะกอนก็คือนิวรณ์นั้นแหละ เป็นเหตุให้จิตของเราขุ่นมัว เมื่อขุ่นแล้วจิตจะไม่สะอาด จะมองอะไรไม่เห็น ฉะนั้น ถ้าเราตั้งจิตของเราให้นิ่งจนกระทั่งให้ตะกอนที่มีอยู่นั้นลงไปข้างล่างให้หมด จิตเราก็เริ่มผ่องใส เริ่มสะอาดแล้ว เมื่อจิตผ่องใสและสะอาดแล้ว เราใช้ปัญญาในการพิจารณา ก็จะเห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งกับสิ่งที่เรามองเห็นนั้นการที่เราอาศัยการฝึกสมาธิจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติเพื่อที่จะไปพิจารณาให้เกิดปัญญาในโอกาสต่อไป ในเบื้องต้นเราจึงต้องฝึกจิตของเรานี้ให้สงบ ให้เดินตามลำดับขั้นตั้งแต่ปฐมฌานไป เราก็ต้องฝึกไปจนกระทั่งจิตของเรานั้นไปอยู่ในตติยฌาน จิตในตติยฌานนี้เป็นช่วงจิตที่เราจะต้องนำมาใช้ทำประโยชน์ เพราะถ้าจิตเลื่อนขั้นไปถึงจตุตถฌานแล้ว จิตจะไม่อยากทำงานอะไรอีกแล้ว ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น จิตวางเฉยหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จิตต้องอยู่ในระดับตติยฌาน จิตในช่วงนี้เป็นจิตที่เป็นประโยชน์ เราขยับจิตเพื่อที่จะสอดส่องมองไปในจุดไหน ไปพิจารณาตรงไหน เช่น จะมองไปที่สังขารร่างกายของเรา จะพิจารณาลมหายใจเข้าออกก็ดี หรือพิจารณาแยกธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ดี พิจารณาให้เห็นเป็นของปฏิกูลก็ดี หรือพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ก็ดี เมื่อจิตที่มีกำลังสมาธิ มีสติและปัญญา มันก็จะมองเห็นชัดเจน คือสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้องก็จะปรากฏขึ้นภายในจิตใจ เมื่อจิตมีความปัญญาความเข้าใจแล้ว จิตก็เข้าสู่ระดับวิปัสสนาคือการรู้แจ้งเห็นจริงในโอกาสต่อไป... |