วิธีฝึกหัดการบริหารกาย แบบโบราณ (โยคะ)
(แบบอาสนะ) มี 7 กลุ่ม
กลุ่มที่ 6
ท่ากลับศีรษะลง มี 4 ท่า
อาสนะในกลุ่มนี้มีลักษณะการบริหารที่ทำให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว ผลของแรงโน้มถ่วงที่มีต่อร่างกายจึงมีลักษณะที่กลับกันกับปรกติวิสัย ผลดีจึงเกิดแก่อวัยวะเช่น สมอง ต่อมไร้ท่อ บริเวณสมอง และลำคอ เนื่องจากการไหลเวียนของโลหิต ที่มาหล่อเลี้ยงมีมากขึ้นตามอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง อาสนะในกลุ่มนี้เป็นอาสนะหลักของหฐโยคะ จึงควรที่ผู้สนใจปฏิบัติโยคะจะพยายามปฏิบัติให้ได้แม้จะต้องใช้เวลานานพอสมควร
6.1 ท่ายืนด้วยศีรษะ (ศีรษาสนะ)
ในท่านี้ผู้ปฏิบัติทรงตัวอยู่บนศีรษะ โดยมีเท้าชี้ขึ้นบน
วิธีปฏิบัติ
- คุกเข่าลงข้างหน้าผืนผ้าที่หนาและแน่น ประสานมือเข้าด้วยกัน วางมือและข้อศอกลงบนผืนผ้า ระวังอย่าให้ข้อศอกห่างกันเกินหนึ่งช่วงไหล่ (ภาพ 67)
- ก้มศีรษะลงจนจรดพื้น ให้ด้านหลังของศีรษะอยู่ในอุ้งมือที่ประสานกัน ชิดเข่าเข้าหาข้อศอกพร้อมกับขยับศีรษะให้ตั้งตรง (ภาพ 68)
- ยกเข่าขึ้นจากพื้น เหยียดเข่าให้ขาตรง ใช้ปลายเท้าดันให้ลำตัวตั้งตรงมากขึ้น (ภาพ 69) หายใจเข้าออกสม่ำเสมอ
- หายใจออก พับต้นขาเข้าหาลำตัว โดยที่ปลายเท้ายังสัมผัสพื้น (ภาพ 70) หายใจเข้าออกสม่ำเสมอ
- หายใจออก ยกเท้าขึ้นจากพื้น พับเข้าหาต้นขา (ภาพ 71) ทรงตัวอยู่ หายใจเข้าออกสม่ำเสมอ
- หายใจออก ค่อยๆ ยกขาที่งอพับอยู่ขึ้นช้า ๆ จนเข่าชี้ขึ้นบน (ภาพ 72,73) หายใจเข้าออกสม่ำเสมอ
- หายใจออก เหยียดขาออกช้า ๆ จนลำตัวทั้งหมดตั้งตรง (ภาพ 74, 75) ทรงตัวอยู่ในท่านี้ตามความสามารถ เริ่มด้วยการหายใจเข้าออก 5 รอบค่อยๆ ยืดระยะเวลาออกไปทีละ 2-3 รอบ จนได้ 60 รอบหรือประมาณ 10 นาที หายใจเข้าออกสม่ำเสมอ
- ปฏิบัติย้อนลำดับจนกลับมาอยู่ในท่าในข้อ 1 แล้วผ่อนคลาย
ภาพ 67 ภาพ 68
ภาพ 69 ภาพ 70
ภาพ 71 ภาพ 72
ภาพ 73 ภาพ 74
ข้อสังเกต
ผู้เริ่มปฏิบัติควรปฏิบัติอาสนะนี้เป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือ ปฏิบัติตามข้อ 1-3 เป็นขั้นตอนหนึ่ง ปฏิบัติเพียงเท่านี้ในการฝึกหัดระยะแรก จนมั่นใจจึงปฏิบัติข้อ 4 เป็นขั้นตอนที่สอง ปฏิบัติขั้นนี้จนมั่นใจจึงเลื่อนไปถึงข้อ 5 เป็นขั้นตอนที่สาม เมื่อทรงตัวได้มั่นใจแล้วจึ่งไปถึงข้อ 6 เป็นขั้นตอนที่สี่ และข้อ 7 เป็นขั้นตอนสุดท้าย ใช้เวลาฝึกหัดในแต่ละขั้นตอนตามความสามารถของแต่ละบุคคล อาจเป็นวันหรือเป็นเดือนก็ได้
ในการปฏิบัติตั้งแต่ข้อที่ 4-7 ผู้ปฏิบัติอาจล้มหงายหลังได้ทุกขณะซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด ให้หาเบาะหรือที่นอนขนาดเล็กที่มีความหนาพอเหมาะมารองไว้ที่ด้านหลังหรือจะปฏิบัติบนเบาะนั้นเลยก็ได้ เมื่อรู้สึกว่าจะเสียการทรงตัวอย่าตกใจ ให้คลายมือที่ประสานกันออก พับศีรษะเข้าหาลำตัวพร้อมกับงอเข่า ผู้ปฏิบัติจะกลิ้งไปบนเบาะโดยไม่เจ็บปวดหรือมีอันตรายใด ๆ
การวางศีรษะบนพื้นเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะช่วยให้การทรงตัวบนศีรษะเป็นไปได้ดี ผู้ปฏิบัติต้องหาจุดพอเหมาะที่ทำให้น้ำหนักตัวส่งผ่านกระดูกสันหลังลงสู่พื้น โดยปรกติจะอยู่บนแนวเส้นตรงสมมุติที่ลากจากหลังใบหูข้างหนึ่งไปตามศีรษะจนถึงหลังใบหูอีกข้างหนึ่ง การจะหาจุดที่ว่านี้ต้องผ่านการทดลองซ้ำ ๆ หลายครั้ง ถ้าตรงจุดจะรู้สึกว่าการทรงตัวบนศีรษะเป็นไปได้โดยง่าย
ในการปฏิบัติที่ถูกต้องน้ำหนักตัวควรจะอยู่บนศีรษะเท่านั้น ถ้ารู้สึกหนักที่แขนแสดงว่าน้ำหนักตัวตกมาทางด้านหน้า นั่นคือลำตัวยังตั้งได้ไม่ตรง ให้ผู้ปฏิบัติยืดส่วนหน้าอก และเก็บหน้าท้องโดยการกระชับกล้ามเนื้อด้านหลังบริเวณเอว เหยียดขาโดยการะกระซับกล้ามเนื้อด้านหลังของต้นขา ลำตัวก็จะตั้งตรงตามธรรมชาติของโครงสร้างของร่างกาย หนักตัวจะถูกส่งผ่านกระดูกสันหลังลงยังพื้นบนจุดยอดของศีรษะพอดี ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกโปร่งเบาเช่นเดียวกับการยืนอย่างถูกต้องบนเท้า
สำหรับผู้เริ่มปฏิบัติที่ยังไม่มั่นใจ ให้ปฏิบัติที่หน้ากำแพงหรือผนังห้องโดยวางมือห่างจากผนังประมาณ 3-4 นิ้วฟุต ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 1-5 โดยพิงลำตัวเข้ากับผนัง จากนั้นค่อย ๆ เหยียดขาขึ้นข้างบนจนขาตั้งตรง เคลื่อนลำตัวออกจากกำแพงโดยใช้ส้นเท้าแตะประคองอยู่ที่ผนัง ยืดหน้าอก เก็บหน้าท้อง เหยียดท่อนขา ค่อย ๆ ผละส้นเท้าจากกำแพง เรียนรู้การทรงตัว เมื่อจะลงจากอาสนะให้พับท่อนขาเข้าหาลำตัว ปฏิบัติย้อนลำดับจากข้อ 5-1 แล้วผ่อนคลาย
ผลดี
พลังความคิด ความจำ และการรับรู้จะดีขึ้น การทำงานของต่อมไร้ท่อ ได้แก่ต่อมพิทูอิทารี ต่อมไพเนียล ต่อมไธรอยด์ และพาราไธรอยด์ มีประสิทธิภาพมากขึ้นป้องกันและรักษาอาการเบื้องต้นของใส้เลื่อน เส้นเลือดขอด และผมหงอกก่อนวัย
ข้อควรระวัง
ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรปฏิบัติอาสนะนี้
6.2 ท่ายืนด้วยไหล่ (สรรวางคาสนะ)
สรรวางคะ แปลว่า ร่างกายทั้งหมด ในท่านี้ร่างกายทั้งหมดถูกยกพ้นจากพื้น มีเพียงคอและไหล่ ที่รองรับน้ำหนักของร่างกาย ส่วนแขนที่หน้าที่เพียงค้ำยันสร้างความสมดุล
วิธีปฏิบัติ
- นอนหงายบนพื้น ผ่อนคลาย
- ชิดเท้าเข้าหากัน ชิดแขนเข้าหาลำตัว ฝ่ามือคว่ำลงกับพื้น เหยียดลำคอด้านหลังด้วยการดันคางให้เข้าใกล้ลำคอด้านหน้า (ภาพ 76) หายใจเข้าออกด้วยความรู้สึกตัว
- หายใจออก ยกขาขึ้นจากพื้นในลักษณะ ที่เหยียดตรงจนตั้งฉากได้ฉากกับพื้น (ภาพ 77) หายใจเข้า
- หายใจออก เคลื่อนเท้าต่อไปพร้อมกับยกสะโพกและลำตัวขึ้นจากพื้น โดยใช้มือช่วยดันพื้นเบา ๆ (ภาพ 78,79) หายใจเข้า
- หายใจออก พับแขน ขยับข้อศอกเข้าหากัน ใช้มือช่วยดันลำตัวไปข้างหน้าให้มากที่สุดหรือจนหน้าอกจรดคาง (ภาพ 80)
- หายใจเข้า ยกขาขึ้นตั้ง กระชับกล้ามเนื้อด้านหลังของสะโพก และต้นขาเหยียดขาตรง (ภาพ 81, 82) หายใจเข้าออกสม่ำเสมอ อยู่ในท่านี้ตามความสามารถ เริ่มด้วยการหายใจเข้าออก 5 รอบ ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาทีละ 2-3 รอบ จนถึง 60 รอบ หรือประมาณ 10 นาที
- ปฏิบัติย้อนลำดับจนกลับมาอยู่ในท่าในข้อที่ 1
ภาพ 76 ภาพ 77
ภาพ 78 ภาพ 79
ภาพ 80 ภาพ 81
ภาพ 82
ผลดี
เช่นเดียวกับศีรษาสนะ นอกจากนี้ยังบรรเทาอาการและรักษาโรคหอบหืด โรคของระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ
ข้อควรระวัง
ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรปฏิบัติอาสนะนี้
6.3 ท่าคันไถ (หลาสนะ)
หะละ หมายถึง คันไถ ลักษณะของท่านี้คล้ายคันไถของชาวนาในสมัยที่การทำนายังอาศัยแรงงานของสัตว์เลี้ยง
วิธีปฏิบัติ
- นอนหงายบนพื้น ผ่อนคลาย
- ชิดเท้าเข้าหากัน ชิดแขนเข้าหาลำตัวฝ่ามือคว่ำลงกับพื้น เหยียดลำคอด้านหลังด้วยการดันคางให้เข้าใกล้ลำคอด้านหน้า (ภาพ 76) หายใจเข้าออกด้วยความรู้สึกตัว
- หายใจออก ยกขาขึ้นจากพื้นในลักษณะที่เหยียดตรงจนตั้งได้ฉากกับพื้น (ภาพ 77) หายใจเข้า
- หายใจออก เคลื่อนเท้าต่อไปพร้อมกับยกสะโพกและลำตัวขึ้นจากพื้น โดยใช้มือช่วยดันพื้นเบา ๆ (ภาพ 78, 79) หย่อนเท้าลงแตะพื้นเหนือศีรษะ (ภาพ 83) หายใจเข้า
- หายใจออก เคลื่อนเท้าออกห่างจากศีรษะจนรู้สึกตึงเต็มที่ เหยียดปลายเท้าให้หลังเท้าสัมผัสพื้น (ภาพ 84) อยู่ในท่าตามความสามารถ หายใจเข้าออกสม่ำเสมอ เริ่มด้วย 5 รอบการหายใจเข้าออก จนถึง 20 รอบ
- ในระยะแรกที่ไม่สามารถหย่อนเท้าลงแตะพื้นให้ใช้ม้านั่งตัวเล็ก ๆ รองรับเท้าที่เหนือศีรษะ (ภาพ 85) ค่อย ๆ ลดความสูงของม้านั่งลงจนเท้าสามารถสัมผัสพื้นได้ในที่สุด
- ในการปฏิบัติท่าคันไถ ต่อจากท่ายืนด้วยไหล่ตามแนวทางการปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั้น จากท่ายืนด้วยไหล่ให้คลายมือที่กระชับดันแผ่นหลัง พับลำตัวหย่อนเท้าลงจนสัมผัสพื้น (ภาพ 86) เหยียดแขนที่พับอยู่วางลงกับพื้น เคลื่อนเท้าออกห่างจากศีรษะจนรู้สึกตึงเต็มที่ เหยียดปลายเท้าให้หลังเท้าสัมผัสพื้น (ภาพ 84)
- ปฏิบัติย้อนลำดับจนกลับมาอยู่ในท่าในข้อที่ 1
ภาพ 83 ภาพ 84
ภาพ 85 ภาพ 86
ผลดี
บรรเทาอาการและรักษาโรคความดันโลหิตสูง แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดคอ ปวดไหล่
6.4 ท่าสุนัขเหยียดลำตัว (อโธ มุขะ ศวานาสนะ)
อโธ มุขะ หมายถึงมีใบหน้าคว่ำลง ศวานะ หมายถึง สุนัข ลักษณะของท่านี้คล้ายท่าทางของสุนัขเวลาที่เหยียดตัวไล่ความเกียจคร้าน
วิธีปฏิบัติ
- นอนคว่ำลงกับพื้น (ภาพ 43) หายใจเข้าออกสม่ำเสมอ
- แยกเท้าออกห่างจากกันประมาณ 1 ฟุต วางนิ้วเท้าลงบนพื้น ส้นเท้าตั้งขึ้น คว่ำฝ่ามือวางข้างหน้าอก ใบหน้าคว่ำลง (ภาพ 87) หายใจเข้าออกด้วยความรู้สึกตัว
- หายใจออก ยกลำตัวขึ้นจากพื้น ถอยลำตัวมาหาเท้า ก้มศีรษะลงสู่พื้นพร้อมกับกดส้นเท้าลงกับพื้น ให้ได้มากที่สุด หรือจนส้นเท้าทั้งสองสัมผัสกับพื้นเข่าตึง แขนเหยียด (ภาพ 88) หายใจเข้าออกสม่ำเสมอ 3-5 รอบ จนถึง 20 รอบตามความสามารถ
- หายใจออก ยกศีรษะขึ้นจากพื้น เคลื่อนลำตัวมาหามือ หย่อนลำตัวลงวางกับพื้นแล้วผ่อนคลาย
ภาพ 87 ภาพ 88
ผลดี
แก้อาการปวดเมื่อย ตึงในขา เท้าและหัวไหล่ ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือปฏิบัติท่ายืนด้วยศีรษะไม่ได้ สามารถปฏิบัติท่านี้เป็นการทดแทนได้